คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4626/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 94 บังคับแก่กรณีห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงกรณีที่จำต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเพื่อพิสูจน์ความจริงตามข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิที่ใช้เป็นหลักในการฟ้องคดี แต่สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องอ้างสิทธิความเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. โดยจำเลยจดทะเบียนนิติกรรมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินมรดกไว้แทนโจทก์ทั้งห้า จึงใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกส่วนของตนคืน กรณีมิใช่ใช้สิทธิฟ้องคดีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การวินิจฉัยโดยรับฟังพยานบุคคลเป็นหลักในการพิจารณา ชอบต่อการรับฟังพยานหลักฐานแล้ว
แม้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ แบบบันทึกการสอบสวนการโอนมรดกจะเป็นเอกสารมหาชนซึ่งมาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะต้องรับฟังตามนั้น โจทก์ทั้งห้านำพยานเข้าสืบหักล้างได้ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94
ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมานาน 30 ปี ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและเปิดเผย โจทก์ทั้งห้าไม่เคยฟ้องเรียกที่ดินคืน คดีขาดอายุความนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินมรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันไว้แทนโจทก์ทั้งห้าหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าฟ้องโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความหรือไม่ เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งห้าคนละหนึ่งส่วน คิดเป็นเงินรวม 319,000 บาท แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้า ในสัดส่วนห้าในหกส่วน คำนวณเป็นเนื้อที่คนละ 1 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2952 ตำบลสากเหล็ก กิ่งอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละหนึ่งในหกส่วน โดยให้โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วนกันเองก่อนแล้วจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินกันตามนั้น หากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันตามส่วนระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นบุตรของนางบุญลือ ซึ่งเป็นบุตรของนายกลม กับนางเอม นางบุญลือถึงแก่ความตายไปแล้วก่อนนายกลม หลังจากนายกลมถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายกลึงบุตรของนายกลมซึ่งเกิดจากนางบุญยัง ผู้จัดการมรดกของนายกลม นายกลมมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 81 ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร นายกลึงในฐานะผู้จัดการมรดกของนายกลมจดทะเบียนแบ่งที่ดินมรดกให้แก่จำเลย นายกลึง นางเกลี้ยง พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายกลึง (บุตรของนายกลมเกิดจากนางบุญยัง) และนายท้วม พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนางบุญลือ (บุตรของนายกลมเกิดจากนางเอม) หลังจากนั้นที่ดินมรดกได้เปลี่ยนเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 822 ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร และผู้รับมรดกทั้งสี่คนตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกเป็นส่วนเท่า ๆ กัน โดยที่ดินมรดกส่วนของจำเลยเมื่อแบ่งออกมาแล้วเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 824 ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา ต่อมาจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 2952 ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังพยานหลักฐานขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีและคำพยานบุคคลคือนายกลึงเป็นหลักในการพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บังคับแก่กรณีห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งหมายถึงกรณีที่จำต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเพื่อพิสูจน์ความจริงตามข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิที่ใช้เป็นหลักในการฟ้องคดี แต่สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องอ้างสิทธิความเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายกลม โดยจำเลยจดทะเบียนนิติกรรมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินมรดกไว้แทนโจทก์ทั้งห้า ทำให้โจทก์ทั้งห้าใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกส่วนของตนซึ่งจำเลยถือครองไว้แทนคืนได้ กรณีมิใช่ใช้สิทธิฟ้องคดีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และโจทก์ทั้งห้าได้นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารไว้แล้ว การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในสำนวนชอบต่อการรับฟังพยานหลักฐานแล้ว ส่วนข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ แบบบันทึกการสอบสวนการโอนมรดก เป็นเอกสารมหาชน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังคำเบิกความของนายกลึงมาวินิจฉัยซึ่งขัดกับข้อความในพยานเอกสารดังกล่าว โดยโต้แย้งว่าขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารมหาชนซึ่งมาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะต้องรับฟังตามนั้น โจทก์ทั้งห้านำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยมานั้นไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมานาน 30 ปีด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและเปิดเผย โจทก์ทั้งห้าไม่เคยฟ้องเรียกที่ดินคืน คดีขาดอายุความนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินมรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันไว้แทนโจทก์ทั้งห้าหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าฟ้องโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความหรือไม่ เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งห้าคนละหนึ่งส่วน คิดเป็นเงินรวม 319,000 บาท แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาส่วนนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share