คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4646/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คู่สัญญาอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าเมื่อเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาไม่จำต้องกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมได้ ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้…ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความรับผิดของผู้เช่าซื้อจึงหาได้ระงับไปพร้อมกับสัญญาด้วยไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้สัญญาระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อเจ้าของแม้ในเหตุสุดวิสัย ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากการใช้รถมิใช่เหตุสุดวิสัยที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาตินั้น โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเนื่องจากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ไม่ได้อ้างว่าสัญญาเลิกกันโดยเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากรถที่เช่าซื้อเสียหายจากภัยธรณีพิบัติ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวหาได้ระบุจำกัดสิทธิดังเช่นสัญญาข้อ 5 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเฉพาะเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากรถหรือการใช้รถไม่ ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นเบี้ยปรับจึงควรกำหนดเบี้ยปรับตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งกำหนดไว้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย เอ็ม อาร์ อาร์ บวก 10 ต่อปี นั้น จำเลยที่ 2 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขายรถที่เช่าซื้อแก่บุคคลภายนอกโดยยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ เกิดเหตุธรณีพิบัติเป็นเหตุให้รถได้รับความเสียหาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพราะสัญญากำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดจากผู้เช่าซื้อหรือไม่ เป็นข้อสัญญาที่ทำให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระเกินกว่าปกติทำให้ผู้ให้เช่าซื้อได้เปรียบผู้เช่าซื้อนั้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการค้าหรือวิชาชีพในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า หากรถที่เช่าซื้อเสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิม โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 182,559.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤษภาคม 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 5294 ภูเก็ต จากโจทก์ในราคา 221,024.16 บาท แบ่งชำระ 48 งวด งวดละ 4,927 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 7 งวด เป็นเงิน 32,232.69 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายจากเหตุธรณีพิบัติจนไม่สามารถซ่อมแซมให้ได้ดีดังเดิม ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยและมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์และโจทก์นำออกขายทอดตลาดได้เงิน 10,000 บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาเช่าซื้อแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คู่สัญญาอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าเมื่อเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาไม่จำต้องกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมได้ ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้…ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความรับผิดของผู้เช่าซื้อจึงหาได้ระงับไปพร้อมกับสัญญาด้วยไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้สัญญาระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อเจ้าของแม้ในเหตุสุดวิสัย ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากการใช้รถมิใช่เหตุสุดวิสัยที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาตินั้น โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเนื่องจากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ไม่ได้อ้างว่าสัญญาเลิกกันโดยเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากรถที่เช่าซื้อเสียหายจากภัยธรณีพิบัติ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวหาได้ระบุจำกัดสิทธิดังเช่นสัญญาข้อ 5 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเฉพาะเป็นเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากรถหรือการใช้รถไม่ ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นเบี้ยปรับจึงควรกำหนดเบี้ยปรับตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งกำหนดไว้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย เอ็ม อาร์ อาร์ บวก 10 ต่อปี นั้น จำเลยที่ 2 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขายรถที่เช่าซื้อแก่บุคคลภายนอกโดยยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ เกิดเหตุธรณีพิบัติเป็นเหตุให้รถได้รับความเสียหาย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพราะสัญญากำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดจากผู้เช่าซื้อหรือไม่ เป็นข้อสัญญาที่ทำให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระเกินกว่าปกติทำให้ผู้ให้เช่าซื้อได้เปรียบผู้เช่าซื้อนั้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการค้าหรือวิชาชีพในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวมิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า หากรถที่เช่าซื้อเสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิม โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตาม ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่รถที่เช่าซื้อเสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิม ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นอันระงับไปเพราะรถที่เช่าซื้อเสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นราคารถนั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่า หากรถที่เช่าซื้อไม่เสียหายหรือถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมได้ดีดังเดิมและจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนทั้ง 48 งวด เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับตามระยะเวลาดังกล่าวประกอบกับการที่โจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดรถมาแล้ว 10,000 บาท จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคารถ 125,000 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share