แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายจ่ายส่วนลดที่โจทก์อ้าง ผู้ซื้อที่ดินชำระเกินมาเนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินส่วนลดประกอบการลงบัญชีโดยให้ผู้รับส่วนลดเซ็นชื่อเป็นหลักฐานประกอบ จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9)
รายจ่ายส่วนตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ และของบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ๆ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบุคคลอื่น จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์
ส่วนรายจ่ายค่ารับรองเกินสมควรและรายจ่ายค่าธรรมเนียมที่ดินของบุคคลอื่นไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)(4)(9)(13)และ (18) ตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) (4) (9) (13)และ (18) ซึ่งโจทก์ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิโดยไม่ชอบ
สำหรับรายจ่ายค่าการกุศลที่เกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธินั้น เมื่อโจทก์ยอมรับว่ารายจ่ายการกุศลเกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิจริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6)
ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยอมรับว่าค่าจ้างแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ในปี 2518 ถึง 2520 นั้น โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ กับเบิกความยอมรับในชั้นศาลว่า โจทก์คงหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนของลูกจ้างประจำในปี 2518 ถึง 2522 และนำส่งให้แก่จำเลย ส่วนค่าแรงงานลูกจ้างรายวันนั้นโจทก์ไม่ได้หักค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากค่าแรงงานส่วนนี้ในอัตราร้อยละ 3 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าจ้างแรงงานรายวันเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวตามความยินยอมของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์พอใจตามการประเมินนั้นแล้ว โจทก์จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้อีกไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 ไว้เกินไปกว่าจำนวนที่ปรากฏในบัญชี โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าในปี 2520 และปี 2522 แต่เจ้าพนักงานประเมินกลับประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (3)เป็นเงินเบี้ยปรับ 6,405 บาท และเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิ เป็นเงินจำนวน128,034.73 บาท จึงเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีจำนวนภาษีการค้าที่ต้องเสียเนื่องจากเหตุเสียคลาดเคลื่อนน้อยไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 แล้ว ก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีก เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำรายรับตามที่โจทก์ลงไว้ในสมุดเงินสดไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2522 แก่จำเลยไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินคงตรวจพบแต่เพียงว่า รายรับของโจทก์สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2522 ตามสมุดเงินสดนั้น คลาดเคลื่อนต่อความจริง กล่าวคือรายรับบางส่วนเป็นรายรับของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องนำรายรับที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงรายการในแบบแสดงรายการการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521แล้วประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 หาใช่เหตุที่จะมาประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จึงไม่ถูกต้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 20 โจทก์จึงอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ป.รัษฎากร มาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานประเมินที่อาจจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นก็ได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินกำหนดจำนวนเงินเพิ่มตามอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา29 และ 30 ตามลำดับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าอัตราเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ใช้ดุลพินิจกำหนดไว้และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเหมาะสมแล้ว หรือหากไม่เหมาะสมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้แก่โจทก์ได้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปจำนวนมากและไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนโดยยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากค่าแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ได้ในอัตราร้อยละ 3 เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบไต่สวนจึงมีเหตุสมควรลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 คงวางเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้น มิได้วางเกณฑ์ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายบทอื่นเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงยกข้ออ้างตามป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (1) ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ แม้จะมิได้ยกเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ต้นก็ตาม
ป.รัษฎากร มาตรา 87 ตรี เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้ หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ทั้งมิได้กำหนดให้ทำการประเมินหลังจากออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนแล้วภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่มี ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ บัญญัติว่า การประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า
(1) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนหรือไม่ การประเมินก็จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่ ป.รัษฎากรมาตรา 88 ทวิ บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 ถึงปี 2521 พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบด้วยป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (1) และมิใช่กรณีโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า อันจะทำการประเมินได้ภายในสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า