คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกกอล์ฟซึ่งมีการออกแบบโครงสร้างผิดพลาดและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้เมื่อมีพายุฝนเป็นธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัทล. ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา434วรรคหนึ่ง ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ระบุไว้ว่าการประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุฯลฯเปียกน้ำด้วยเมื่อเกิดพายุฝนขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายของจำเลยล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต็อกสินค้าของบริษัทล. ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เปียกน้ำฝนซึ่งจำเลยเจ้าของสิ่งก่อสร้างต้องรับผิดชอบเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทล.แล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทล.ซึ่งมีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นเจ้าของและผู้จัดให้มีการดำเนินการก่อสร้างสนามฝึกซ้อมกอล์ฟได้ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างและติดตั้งเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ่อมกอล์ฟดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อทำการก่อสร้างโดยใช้แบบของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและใช้วิธีการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องทางเทคนิค ใช้แรงงานที่ขาดคุณสมบัติตลอดจนใช้วัสดุสัมภาระที่บกพร่องหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ระหว่างการก่อสร้างได้เกิดพายุฝนเป็นเหตุให้เสาโครงการเหล็กและตาข่ายที่ก่อสร้างล้มลงมาทับคลังสินค้าของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหายหลังคาอาคารสินค้าพังถล่มลงมาทำให้สินค้าและทรัพย์สินในคลังสินค้าเปียกน้ำฝน ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 16,289,677 บาทโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่บริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด แล้วจึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 17,000,758.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 16,289,677 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่เสารั้วเหล็กกันลูกกอล์ฟล้มลงทับอาคารคลังสินค้าได้รับความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากเกิดพายุลมพัดแรงกว่าปกติ เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว และไม่ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัดมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่เสาโครงเหล็กขึงตาข่ายสำหรับฝึกซ้อมกอล์ฟหักโค่นลงนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากเกิดพายุฝนซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของโจทก์เอง เพราะภัยที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยไม่เป็นเงื่อนไขให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยทั้งกรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุที่โครงเหล็กและตาข่ายล้มลงเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากเกิดพายุฝนอย่างรุนแรงจำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์จะรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 รับผิดไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,371,528.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 5,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27กันยายน 2533 ในต้นเงิน 5,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่3 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 711,081.74 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัย ได้รับประกันอัคคีภัยและประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องคุ้มครองสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเลขที่ 134/18 ซอยอรรถทวี 3 ถนนพระราม 4 แขวงคลองเตยเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จากบริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับสต๊อกสินค้าวงเงิน 30,500,000 บาท มีอายุคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2533 ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 และกรมธรรม์ประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องเอกสารหมาย จ.4 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.5จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเลขที่ 10ซอยอรรถกวี 1 ถนนสุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตยกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ใกล้กับคลังสินค้าดังกล่าว เมื่อวันที่5 กรกฎาคม 2533 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา เกิดพายุฝนในกรุงเทพมหานคร ทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายที่ขึงติดกับเสาโครงเหล็กของสนามฝึกซ่อมกอล์ฟล้มลงมาทับคลังสินค้าดังกล่าวเป็นเหตุให้สต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเปียกน้ำฝนได้รับความเสียหาย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสนามฝึกซ้อมกอล์ฟที่เกิดเหตุหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟแต่ผู้เดียวฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด เป็นผู้ออกแบบเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยนายเยี่ยม วงษ์วานิชพยานจำเลยที่ 2 ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตทประเทศสหรัฐอเมริกาเบิกความว่านายทักษะ ตังคฤหัสถ์ วัศวกรของบริษัทสภาปนิก 110 จำกัดซึ่งสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำเร็จปริญญาโททางวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเอไอที เป็นผู้คำนวณแบบโครงสร้างของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ้อมกอล์ฟให้จำเลยที่ 2 ซึ่งตามหลักวิชาวิศวกรรมและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณแรงลมที่ปะทะเสาโครงเหล็กและตาข่ายเป็นการตายตัว วิศวกรแต่ละคนต้องคำนวณโดยอาศัยประสบการณ์และความสามารถเฉพาะตัวนายทักษะได้คำนวณแรงลมที่ปะทะตาข่ายโครงเหล็กเพื่อแรงลมร้อยละ 10 ของลมที่มาปะทะโครงเหล็ก ซึ่งพยานเข้าใจว่านายทักษะคำนวณแรงลมที่ลอดตาข่ายหักออกจากแรงลมทั้งหมดที่ปะทะโครงเหล็กคงเหลือแรงปะทะที่ค้างคือร้อยละ 10 ดังกล่าวแต่หลังจากที่ได้ทำการก่อสร้างโครงเหล็กและตาข่ายไปแล้วร้อยละ10 พยานได้ขอให้นายการูร จันทรางศุ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์คำนวณแล้วเห็นว่า ที่นายทักษะคำนวณเผื่อไว้เพียงร้อยละ 10 ไม่เพียงพอ จึงได้แนะนำให้เสริมเหล็กและเสาเข็มของรั้วโครงเหล็กเพิ่มเติมเผื่อรับแรงลมที่ปะทะเป็นร้อยละ 15 พยานได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.18ให้จำเลยที่ 2 ทราบแต่ปรากฏตามหนังสือของจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 2 ระบุว่าได้เพิ่มเติมเหล็กค้ำยันเสารั้วทั้งสิ้น26 ต้นเท่านั้น ทั้งที่ตามแบบแสดงรายการที่เสาเหล็กแบบซี 1สูง 35 เมตร จำนวน 34 ต้น และเสาเหล็กแบบซี 2 สูง 25 เมตรจำนวน 12 ต้น ยิ่งกว่านั้นนายธีรธร สุขกนิษฐ พยานโจทก์ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมศาสตร์แขนงโครงสร้างและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทที.เจเอส แอนด์แอสโซซิเอทส์ จำกัด เบิกความว่า พยานพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศได้สำรวจความเสียหายเกี่ยวกับเสาโครงเหล็กและตาข่ายที่เกิดเหตุ พบว่าเสาโครงเหล็กทั้งหมด 46 ต้นหักโค่นลงมาถึง 38 ต้น สาเหตุที่เสาโครงเหล็กและตาข่ายล้มลงเกิดจากการออกแบบผิดพลาดบางส่วน โดยมีจุดสำคัญคือประการแรกมิได้คิดคำนวณแรงลมที่ปะทะตัวตาข่าย ประการที่สองไม่ได้หารแรงเค้นวิกฤตด้วยสัมประสิทธิ์ความปลอดภัย (SAFE FACTOR)ซึ่งในกรณีนี้เท่ากับ 1.92 เพื่อจะได้จำกัดแรงเค้นวิกฤตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยรายละเอียดการสำรวจความเสียหายของเสาโครงเหล็กและตาข่ายปรากฏตามรายงานเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.34ความบกพร่องในการออกแบบโครงสร้างของเสาโครงเหล็กและตาข่ายจำเลยที่ 2 ได้รับทราบจากหนังสือของบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด ลงวันที่17 พฤษภาคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.18 ก่อนเกิดวินาศภัยว่าเสารั้วสนามฝึกซ้อมกอล์ฟบางแห่งล้มเนื่องจากลมพายุ วิศวกรผู้ออกแบบได้คำนวณแรงลมที่ปะทะตาข่ายที่กำหนดไว้เดิมมีกำลังน้อยไปเกรงจะมีปัญหา แม้ต่อมาได้รับการแก้ไขโดยเพิ่มเติมเหล็กค้ำยันตามเอกสารหมาย ล.39 ก็ไม่สมบูรณ์เพราะโครงสร้างเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบงานในแต่ละงวดงานที่มีการส่งมอบ ในวันเกิดวินาศภัย สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารและต้นไม้อื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าได้หักโค่นลงมาเพราะอายุฝนดังกล่าวสำนักงานจำเลยที่ 1 ที่นายไพบูลย์พยานจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ถูกแรงลมด้วยก็ไม่ได้รับความเสียหาย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จากคำเบิกความของนายธีรพรพยานโจทก์ที่แสดงค่ามาตรฐานในการคำนวณเผื่อแรงลมที่ปะทะเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานเทศบัญญัติ 1.92 เท่า เป็นค่ามาตรฐานแรงลมปะทะวัตถุที่เป็นผิวเรียบเท่านั้นไม่ใช่ค่ามาตรฐานแรงลมที่ปะทะวัตถุที่เป็นพื้นผิวตาข่ายค่ามาตรฐานในการคำนวณเผื่อแรงลมที่ปะทะพื้นผิวที่เป็นตาข่ายย่อมต้องน้อยกว่า 1.92 เท่า เพราะแรงลมที่ปะทะตาข่ายสามารถผ่านช่องตาข่ายไปได้ย่อมมีค่ามาตรฐานต่ำกว่า 1.92 เท่ามากกรณีจึงไม่อาจยึดถือค่า 1.92 เท่า เป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าการที่วิศวกรคำนวนแรงลมปะทะตาข่ายไว้ 1.15 เท่า เป็นการคำนวณที่บกพร่องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกแบบโครงสร้างได้ออกแบบผิดพลาดมาตั้งแต่แรก และไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีสัญญาณบอกเหตุว่าโครงเหล็กบางส่วนล้มลงแม้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสริมเหล็กค้ำยันโครงเหล็กก็กระทำเพียงบางส่วน แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่า ในวันเกิดเหตุเกิดพายุหมุนผิดธรรมชาติอันจะถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ ทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายล้มลงมา แต่โจทก์นำสืบว่าบริษัทเกรแฮม มิลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายให้สำรวจความเสียหายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามรายงานเบื้องต้นภัยพายุฉบับที่ 2 เอกสารหมาย จ.7 หน้า 4และ 6 ได้ระบุว่าวันเกิดเหตุเกิดพายุฝนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร บริษัทได้สอบถามกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อขอทราบความแรงของลมที่แน่นอน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้เหมือนกันในเรื่องของการออกแบบสนามซึ่งอาจจะไม่แข็งแรงเพียงพอหรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานส่วนนายณัฐ สุทธิสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของโจทก์เบิกความว่า ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่าภัยอันเกิดจากพายุที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ได้รับคุ้มครองมิได้กำหนดไว้ว่าลมพายุจะมีอัตราความเร็วเท่าใด เพียงแต่กำหนดว่าเป็นลมพายุเท่านั้นส่วนกรมธรรม์ประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องตามเอกสารหมาย จ.4 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.5 ที่ระบุเงื่อนไขในข้อ 6 ว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองการสูญเสียใด ๆ ที่มีสาเหตุจากความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยหรือเนื่องจากหรือเป็นผลมาจากทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมจากปรากฏการณ์ต่อไปนี้ (บี) ไต้ฝุ่นเฮอริเคน ทอร์นาโด ไซโคลน หรือการรบกวนอื่น ๆ ทางบรรยากาศจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเงื่อนไขที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองถึงต้องเป็นพายุหมุนในชื่อต่าง ๆ ดังกล่าว และการรบกวนอื่น ๆ ทางบรรยากาศที่มีลักษณะความรุนแรงโกลาหลผิดปกติธรรมชาติแต่พายุฝนในวันเกิดวินาศภัยเป็นพายุฝนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อพายุฝนดังกล่าวทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 วรรคหนึ่งฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เพียงใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีความรับผิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ทำไว้กับบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด เพราะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยไม่คุ้มครองถึงการทำละเมิดของบุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 5ได้ระบุไว้ในช่องหมายเหตุว่าการประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุ ฯลฯเปียกน้ำ ฯลฯ ตามเงื่อนไขแนบท้ายกรมธรรม์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยพายุที่ทำให้สต๊อกสินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายไม่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตามแต่พายุฝนที่เกิดขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่ 2 ล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต็อกสินค้าของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด เปียกน้ำฝน ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาในปัญหาแรกแล้วโจทก์ซึ่งรับประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าและประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องจากบริษัทดังกล่าวและกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 ให้ความคุ้มครองจากภัยอันเกิดจากพายุและน้ำฝนจึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากความผิดของจำเลยที่ 2 นั่นเองซึ่งโจทก์นำสืบว่า เมื่อบริษัทเกรแฮม มิลเลอร์ (ประเทศไทย จำกัดได้สำรวจความเสียหายของสต็อกสินค้าที่เอาประกันตามเอกสารหมายจ.6 จ.8 จ.10 หรือ จ.12 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.7จ.9 จ.11 และ จ.13 แล้วประเมินค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น15,846,156.85 บาท และโจทก์นำสืบฟังได้ว่า ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย)จำกัด ตามที่บริษัทเกรแฮม มิลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ประเมินค่าเสียหายตามหลักฐานและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.14ถึง จ.23 แต่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายของสต็อกสินค้าเป็นเงินเพียง 11,371,528.78 บาทโดยแยกความเสียหายหลายรายการได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าอุปกรณ์สัญญาณความปลอดภัย สินค้าผลิตภัณฑ์ตราอาร์มสตรองสินค้าเครื่องใช้และตกแต่งสำนักงาน สินค้าผลิตภัณฑ์ตราแคมป์ปิ้งแก๊สสินค้าโลหะภัณฑ์ สินค้าเครื่องแก้ว และแผ่นสติกเกอร์ ค่าซ่อมรถตัดหญ้า ค่าบูรณะซ่อมแซมอาคารและเครื่องใช้ให้คืนสภาพเดิมค่าขนย้ายซากทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายบรรเทาภัยล่วงหน้าแต่ฎีกาของจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแต่ละรายการไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องแต่ละรายการมีจำนวนค่าเสียหายเท่าไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น ต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีต่อจำเลยที่ 2 บุคคลภายนอกเป็นเงิน11,371,528.78 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share