แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เฉพาะมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ เป็นมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้แก้เป็นบทมาตราอื่นแต่อย่างใด ส่วนโทษก็แก้เฉพาะโทษในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี เป็น 4 ปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยและขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา ล้วนเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาในข้อดังกล่าวมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
การมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน แม้มีอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 86 เม็ด และอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีปริมาณน้อย ไม่อาจชั่งน้ำหนักได้ติดอยู่ที่หลอดพลาสติกและกระดาษอะลูมิเนียมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 2 เม็ดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ นอกจากนี้จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นชนิดประกอบขึ้นเองจำนวน 1 กระบอก เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย อาวุธปืนพกสั้นรีวอลเวอร์ชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก อาวุธปืนยาวอัดลมขนาด .177 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก และกระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 (ลองไรเฟิล) 130 นัด กระสุนปืนอัดลมขนาด .177 (4.5 มม.) 633 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้ใบรับอนุญาตและจำเลยมีกระสุนปืนคาร์ไบน์ ขนาด .30 จำนวน 4 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นอาวุธปืนลูกซองสั้นและคืนเงินสดของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มารตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 78 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 17 ปี ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นอาวุธปืนลูกซองสั้นหมายเลขทะเบียน ลบ 1/13683 และคืนเงินสดของกลางจำนวน 200 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นทุกฐานแล้วเป็นจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เฉพาะมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จากกฎหมายเดิมเป็นมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้แก้เป็นบทมาตราอื่นแต่อย่างใด ส่วนโทษศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็แก้เฉพาะโทษในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี เป็นจำคุก 4 ปี ดังนี้ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ลดโทษให้จำเลยทุกกระทงกระทงละหนึ่งในสาม เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียง 4 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่าจ่าสิบตำรวจกิตติพงษ์ ทองพันธ์ จะเห็นเหตุการณ์ในขณะสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความ จำเลยไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านเกิดเหตุ จะฟังว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นของจำเลยไม่ได้และจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังลงโทษจำเลย กับที่ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบานั้นล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ย่อมต้องห้ามฎีกาโดยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาในข้อดังกล่าวมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนกับมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมตามที่ศาลล่างพิพากษามานั้น เห็นว่า การมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน แม้จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น รูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน