คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1929/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ไปรับจ้างทำงานที่จังหวัดนครราชสีมาและได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมาโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ตามไปอยู่ด้วยเท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 29,416 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 23,416 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมาและได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่า กรณีอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 กล่าวคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะต้องพิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดนครราชสีมาโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ตามไปอยู่ด้วยเท่านั้นมิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share