แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงร่วมกันว่าหากเสียงส่วนใหญ่ของผู้จัดการมรดกซึ่งมีอยู่ 5 คนรวมทั้งคู่ความยอมตกลงจ่ายเงินมรดกให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองก็ยอมจ่ายให้และโจทก์ไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ยดังนี้ ถือได้ว่ามีลักษณะเป็นคำท้าหรือมีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อปรากฏว่าผู้จัดการมรดกเสียงข้างมากยอมตกลงจ่ายเงินมรดกให้โจทก์เงื่อนไขจึงสำเร็จครบถ้วนตามข้อตกลง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น การที่ศาลชั้นต้นยังไกล่เกลี่ยคู่ความให้ตกลงกันและดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปอีกเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นได้และพิพากษาให้เป็นไปตามที่ตกลงท้ากัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรและทายาทร้อยเอกหลวงไวรณการจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์และบุคคลอื่นรวม 5 คนเป็นผู้จัดการมรดกร้อยเอกหลวงไวรณการ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษารับจ่ายเงินกองมรดกซึ่งฝากไว้กับธนาคารจำเลยที่ 3คณะผู้จัดการมรดกได้ตกลงเรื่องการเงิน คงเหลือส่วนที่โจทก์จะได้รับอีก 9,429.32 บาทแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายให้โจทก์ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 233 ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ที่ 2 สั่งจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากกองมรดกให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ยอมสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่ายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 พิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า มติที่ประชุมผู้จัดการมรดกเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่มติผู้จัดการมรดก เพราะผู้จัดการมรดกเข้าประชุมไม่ครบ ทั้งมติก็ไม่มีการรับรองอย่างใด จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากกองมรดกร้อยเอกหลวงไวรณการ จำนวน 9,429.32 ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คดีนี้มีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลต้องพิพากษาให้เป็นไปตามนั้น หรือต้องพิพากษาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางนำสืบของคู่ความ ปรากฏว่าก่อนมีการสืบพยาน ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 กันยายน 2526 ว่า คู่ความแถลงร่วมกันว่า หากเสียงส่วนใหญ่ของผู้จัดการมรดกซึ่งมีอยู่ 5คนรวมทั้งคู่ความยอมตกลงจ่ายเงินมรดกให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองก็ยอมจ่ายให้ และเมื่อจำเลยยอมจ่ายให้โจทก์ก็ไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ย คู่ความแถลงเพิ่มเติมอีกว่า วันนี้นายเล็ก ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งได้มาศาลด้วย ศาลได้สอบถามนายเล็ก นายเล็กไม่ขัดข้องที่จะให้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ โจทก์แถลงว่า โจทก์จะมีหนังสือเชิญนายกฤตย์ ผู้จัดการมรดกอีกคนมาศาลในนัดหน้าด้วย จึงให้นัดพร้อมในวันที่ 21 ตุลาคม 2526 เมื่อถึงวันนัดศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ ก่อนสืบพยานโจทก์ นายกฤตย์ ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของผู้ตายมาศาลพร้อมกับยื่นคำแถลงว่า ไม่คัดค้านที่กองมรดกของผู้ตายโดยจำเลยที่1 ที่ 2 จะจ่ายเงินให้โจทก์ตามฟ้อง ศาลได้ไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน ฝ่ายจำเลยทั้งสองยอมชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์ แต่วันนี้ไม่มีเงินสดหรือเช็คมาโจทก์จึงขอให้ฝ่ายจำเลยนำเงินสดมาชำระหรือออกเช็คให้ แล้วโจทก์จะถอนฟ้องคู่ความขอให้สืบพยานไปก่อน โดยจำเลยทั้งสองรับว่าในนัดหน้าจะนำเงินสดเท่าที่โจทก์เรียกร้องมามอบให้โจทก์โจทก์สืบพยานได้ 2 ปาก แล้วแถลงหมดพยานบุคคลศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12 ธันวาคม 2526 วันที่ 26 ตุลาคม 2526โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2526 ว่า ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ซึ่งในวันนั้นนายกฤตย์ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งยื่นคำแถลงไม่คัดค้านแล้วศาลต้องพิพากษาไปตามประเด็นคำท้า จะย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทอีกไม่ได้ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องคัดค้านของโจทก์แล้วดำเนินการสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่หยิบยกขึ้นมาดังกล่าวฉบับแรก มีข้อความว่า หากผู้จัดการมรดกเสียงข้างมากคือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปยอมจ่ายเงินจากกองมรดกให้โจทก์ จำเลยทั้งสองก็ยอมจ่ายให้หรืออีกนัยหนึ่งจำเลยยอมแพ้นั่นเอง จึงมีลักษณะเป็นคำท้าหรือเรียกได้ว่ามีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนฟ้อง และข้อตกลงนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แล้ว และต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับหลังว่า นายกฤตย์ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งได้ยื่นคำแถลงไม่คัดค้านในการจ่ายเงินมรดกให้โจทก์จึงครบ 3 คนเป็นเสียงข้างมากในคณะผู้จัดการมรดกแล้วแม้จะมีข้อความต่อมาว่า ให้สืบพยานโจทก์ไปก่อนรวมทั้งข้อตกลงที่จะให้โจทก์ถอนฟ้องไปก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงหรือคำท้าตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกนั้นยกเลิกไปเพราะศาลชั้นต้นมีหน้าที่จะต้องพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงในคำท้านั้น โดยไม่ต้องดำเนินการพิจารณาคดีอย่างใดต่อไปแล้ว เมื่อฟังได้ว่ามีการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 และเงื่อนไขสำเร็จครบถ้วนตามข้อตกลงแล้ว ศาลชั้นต้นกลับจดรายงานกระบวนพิจารณาในฉบับหลังว่า วันนี้เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ทั้ง ๆที่เป็นวันนัดพร้อม และเมื่อปรากฏว่า นายกฤตย์ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งไม่คัดค้านแล้ว ศาลชั้นต้นก็ยังไกล่เกลี่ยและให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปอีกเช่นนี้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่าฝืนกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ดังนั้น กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ศาลชั้นต้นดำเนินไปหลังจากเงื่อนไขตามข้อตกลงสำเร็จแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นเสียได้ และต้องพิพากษาให้เป็นไปตามที่ตกลงท้ากัน
พิพากษายืน.