คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ ไปอยู่กับญาติซึ่งบ้านอยู่ใกล้กันไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้เสียหายทะเลาะกับมารดา หรือมารดานำไปฝาก ก็ไม่ถือว่าพ้นจากอำนาจปกครองของมารดา การที่ญาติของผู้เสียหายอนุญาตให้ผู้เสียหายไปเอาหม้อยากับจำเลยแล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากมารดาผู้เสียหาย และทำให้กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้พรากนางสาวสุราวรรณ แซ่เลี้ยว ผู้เยาว์อายุ ๑๕ ปีเศษ ไปเสียจากนางแหวน แซ่เลี้ยว มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย และจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรานางสาวสุราวรรณ แซ่เลี้ยว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑,๒๗๖,๓๑๘ วรรคสาม ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ วรรคแรก จำเลยอายุ ๑๗ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ จำคุก ๒ ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนด ๑ ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๓๑(๒) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทรณ์ว่า นางสาวสุราวรรณ แซ่เลี้ยว ผู้เสียหายอายุ ๑๕ ปีเศษ อยู่กับนางแหวนมารดา ก่อนเกิดเหตุประมาณ ๒-๓ เดือน ผู้เสียหายออกจากบ้านมารดาไปอยู่กับนางสมจิตร หอมจันทร์ ซึ่งเป็นลูกผู้พี่บ้านอยู่ห่างกันประมาณ ๑ ป้ายรถเมล์ บ้านจำเลยอยู่หลังบ้านนางสมจิตร จำเลยกับผู้เสียหายเป็นเพื่อนกันเลยไปมาหาสู่กัน เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา นางสมจิตรใช้ให้จำเลยและผู้เสียหายไปเอาหม้อยาที่บ้านหมอปลิวโดยผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานของจำเลย เวลา ๒๑ นาฬิกา ก็พากันกลับระหว่างทางกลับมาตามถนนหทัยราษฎร์ เข้าไปตามถนนลูกรังห่างถนนหทัยราษฎร์ประมาณ ๑๐ เมตร นั่งคุยกัน แล้วต่อมาจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความสมัครใจของผู้เสียหาย ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง ๑๕ ปีเศษ การที่ผู้เสียหายไปอยู่กับนางสมจิตรซึ่งเป็นญาติและบ้านห่างกันเพียงป้ายรถเมล์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้เสียหายทะเลาะกับมารดาหรือมารดานำมาฝากให้อยู่กับนางสมจิตร ก็ไม่ถือว่าพ้นจากอำนาจปกครองของมารดาทั้งการที่ผู้เสียหายเป็นผู้หาเงินเลี้ยงครอบครัว ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของมารดาที่มีอยู่หมดไปแต่อย่างใด ในคืนเกิดเหตุนางสมจิตรให้ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานของจำเลยไปเอาหม้อยา ซึ่งได้ว่าเป็นการยินยอมอนุญาตให้พาไป แต่ถือไม่ได้ว่ายินยอมให้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายด้วย การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายยังอยู่ในอำนาจปกครองของมารดา จะต้องได้รับความยินยอมจาก มารดาเสียก่อน มิฉะนั้น ย่อมถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยต่อสู้ผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากมารดาผู้เสียหาย และทำให้กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๙ วรรคแรก แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ที่มารดาผู้เสียหายให้ผู้เสียหายไปอยู่กับนางสมจิตร และนางสมจิตรให้ผู้เสียหายไปกับจำเลยตามลำพังในเวลากลางคืน จึงเกิดเหตุขึ้น เมื่อเกิดเหตุแล้วมารดาผู้เสียหายเรียกค่าเสียหาย ๒๐,๐๐๐ บาท แต่มารดาจำเลยเห็นว่าผู้เสียหายไปอยู่กับนายเตี้ยแล้วจึงรับจะให้เพียง ๔,๐๐๐ บาท มารดาผู้เสียหายไม่ยอม จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อมาผู้เสียหายได้แต่งงานกับนายเตี้ยเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ประกอบกับจำเลยได้ช่วยมารดาประกอบอาชีพ และถูกควบคุมตัวมาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วคงจะได้สำนึกในการกระทำผิดของตน ทั้งจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี แต่เห็นควรลงโทษปรับจำเลยด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมยังสถานพินิจฯ และเมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วให้ปรับจำเลย ๓,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙,๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share