คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367-368/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 ที่กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนที่ดินของโจทก์ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อ 22 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2530 ประกอบกับมาตรา 5วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9วรรคสี่ ประกอบมาตรา 21(2) หรือ (3) แต่ต่อมาหลังจากมีการฟ้องคดีแล้ว ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 1 ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และบัญญัติความใหม่แทนว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21มาตรา 22 และมาตรา 24” ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่29 กุมภาพันธ์ 2534 โดยข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย” ดังนั้น เมื่อคดีของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือว่ากรณีของโจทก์นี้เป็นการเวนคืนซึ่งการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดตามความหมายของข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศดังกล่าว การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยถือเกณฑ์ตามมาตรา 9 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยถือตามราคาตามมาตรา 21(2)หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์จึงไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แม้จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป รัฐก็มีหน้าที่ชดใช้ค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วย เมื่อการเวนคืนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ที่เหลือมีอาณาเขตไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่ลดลงเพราะการเวนคืนของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21วรรคสาม แต่ขณะที่มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ 3 ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคำนวณราคาที่ดินที่ลดลงออกมาใช้บังคับตามมาตรา 21 วรรคสี่ แม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนพ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ก็ตามแต่ตามมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาตามพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ดังนั้นพระราชกฤษฎีกานี้จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ได้จึงต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 3 ส่วนที่เหลือที่ราคาลดลงโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่งโดยอนุโลม ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อการเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 29 ตารางวา ของโจทก์ที่ 3 ถูกตัดขาดจากที่ดินเดิมจนไม่มีถนนเข้าที่ดินซึ่งเห็นได้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวย่อมมีราคาลดลงโดยสภาพ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 3 รวมเป็นเงิน 144,440 บาทนั้นจึงเหมาะสมแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องจ่ายเงินจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26วรรคสาม แล้ว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4601, 4602 และ 1832 รวมเนื้อที่3 งาน 87 ตารางวา โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 และ 1751 รวมเนื้อที่ 2 งาน 43 ตารางวา ที่ของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวอยู่ติดต่อกันและตั้งอยู่ตำบลมักกะสัน (พญาไท)อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่บริหารงานของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโจทก์ 1 และที่ 2 เพื่อสร้างทางพิเศษเป็นเนื้อที่ 2 งาน 30 ตารางวาและเวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ 3 เป็นเนื้อที่ 1 งาน 67 ตารางวาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1และที่ 2 ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท สำหรับที่ดิน 2 งาน14 ตารางวา และในอัตราตารางวาละ 20,000 บาท สำหรับที่ดิน16 ตารางวา รวมเป็นเงิน 2,460,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 3 ในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท สำหรับที่ดิน 1 งาน66 ตารางวา และในอัตราตารางวาละ 20,000 บาท สำหรับที่ดิน1 ตารางวา รวมเป็นเงิน 1,680,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ไม่เป็นธรรมเพราะในวันที่ 1 มกราคม 2531 อันเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ30,000 บาท ในราคาเดียวกันทั้งแปลง โดยราคาที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่ถูกเวนคืนควรจะเป็นราคา 6,900,000 บาท ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 3 ที่ถูกเวนคืนควรจะเป็นราคา 5,010,000 บาทนอกจากนี้เวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ 3 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ที่เหลือ 76 ตารางวา ถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนและถูกตัดขาดจากถนน เป็นที่ดินซึ่งขาดสาธารณูปโภค จึงมีราคาลดลง 400,000 บาทโจทก์ทั้งสามยอมรับเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 กำหนดให้ดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเสียหายบางส่วน และโจทก์ทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วยืนยันว่าเป็นราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสมแล้วโจทก์ทั้งสามเห็นว่าราคาที่กำหนดให้ดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระและโจทก์ทั้งสามควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีของเงินค่าทดแทนเพิ่มด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทน 4,440,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 4,440,000 บาท นับแต่วันที่24 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระเงินค่าทดแทน 3,730,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 3,730,000 บาท นับแต่วันที่12 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสามโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 30,000 บาท ตามเนื้อที่ดินทั้งหมดที่ถูกเวนคืนนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนโดยการประเมินทุนทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยมีหลักเกณฑ์แบ่งราคาที่ดินออกเป็น 2 หน่วย หน่วยที่ 1 ติดซอยในระยะ 40 เมตร กำหนดราคาตารางวาละ 20,000 บาท หน่วยที่ 2ซึ่งเป็นที่ดินนอกจากหน่วยที่ 1 กำหนดราคาตารางวาละ 10,000 บาทที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อยู่ในหน่วยที่ 1 รวม 16 ตารางวาคิดค่าทดแทนเป็นเงิน 320,000 บาท และอยู่ในหน่วยที่ 2 รวม 2 งาน14 ตารางวา คิดค่าทดแทนเป็นเงิน 2,140,000 บาท ที่ดินโจทก์ที่ 3อยู่ในหน่วยที่ 1 จำนวน 1 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทน 20,000 บาทและอยู่ในหน่วยที่ 2 จำนวน 1 งาน 66 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทน1,680,000 บาท และยังทำให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ประโยชน์จากสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดคิดได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 จำนวน 1,712,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,466,440 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 25มิถุนายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น3,290,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 510,598.50 บาท และชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น 2,939,440 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 478,310 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดาและมารดาของโจทก์ที่ 3 และมีที่ดินอยู่ติดต่อกัน โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4601, 4602 และ 1832 รวมเนื้อที่ 3 งาน87 ตารางวา โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่4604 และ 1751 รวมเนื้อที่ 2 งาน 43 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวตั้งอยู่ตำบลมักกะสัน (พญาไท) อำเภอดุสิตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์สร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงรักษาทางพิเศษและดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ และกิจการอื่นอีก โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้แทนและเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเมื่อวันที่31 ธันวาคม 2530 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วน สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2531 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 2 งาน 30 ตารางวา และที่ดินของโจทก์ที่ 3 ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 1 งาน 67 ตารางวา จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตารางวาละ 10,000 บาทสำหรับที่ดินเนื้อที่ 2 งาน 14 ตารางวา และตารางวาละ 20,000 บาทสำหรับที่ดิน 16 ตารางวา รวมเป็นเงิน 2,460,000 บาท กำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 ตารางวาละ 10,000 บาทสำหรับที่ดิน 1 งาน 66 ตารางวา และตารางวาละ 20,000 บาท สำหรับที่ดิน 1 ตารางวา รวมเป็นเงิน 1,680,000 บาท และในการเวนคืนที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ถูกแบ่งแยกออกเป็น2 ส่วน โดยที่ดินแปลงด้านหน้าโฉนดเลขที่ 4604 เหลือเนื้อที่47 ตารางวา ที่ดินแปลงด้านหลังโฉนดเลขที่ 1751 เหลือเนื้อที่29 ตารางวา โจทก์ทั้งสามยินยอมรับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้ไว้เพื่อบรรเทาความเสียหาย โดยโจทก์ที่ 1และที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 โจทก์ที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2532 ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้กำหนดจำนวนค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามถูกต้องและเป็นธรรมแล้วมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองกำหนดจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่เวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตยานนาวา เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ที่กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อ 22แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515พ.ศ. 2530 ประกอบกับมาตรา 5 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งข้อ 22 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วดังกล่าวบัญญัติว่า “เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษ ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์”และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศหรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดินหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้”ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ประกอบมาตรา 21(2)หรือ (3) แต่ต่อมาหลังจากมีการฟ้องคดีแล้ว ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 1 ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และบัญญัติความใหม่แทนว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24” ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2534 โดยข้อ 5 วรรคหนึ่งแห่งประกาศดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้นการจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย” ดังนั้น เมื่อคดีของโจทก์ทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือว่ากรณีของโจทก์ทั้งสามนี้เป็นการเวนคืนซึ่งการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดตามความหมายของข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศดังกล่าวการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ข้อ 1 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21มาตรา 22 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งมาตรา 21 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”การที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยถือเกณฑ์ตามมาตรา 9 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดยถือตามราคาตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ จึงไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเพิ่มขึ้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องใช้ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามเพียงใดข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม2531 เจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนทั้งแปลงเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตารางวาละ 20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.32 และ จ.33 ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวาเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ที่เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามีผลใช้บังคับ นอกจากราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวแล้ว โจทก์มีนายวิสิทธิ์จงดีรันดร์ ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนประมาณ 500 เมตร และนางสาวสุภาพร ศรีเรืองสกุลซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ทั้งสามเป็นพยานเบิกความว่าระหว่างปี 2530 ถึงปี 2531 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประมาณตารางวาละ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาทและนางฉันทนา ศรีสุวรรณวิลัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด กับนายชลิต สถิตย์ทองรองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ก็เบิกความเป็นพยานโจทก์มีใจความทำนองเดียวกันว่า ในปี 2531ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประมาณตารางวาละ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท เมื่อพิจารณาสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสามมาประกอบแล้ว เห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามตั้งอยู่ในย่านเจริญ ใกล้กับศูนย์การค้าโรงพยาบาล ธนาคาร และที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีลักษณะเป็นผืนเดียวกัน โดยที่ดินดังกล่าวได้ทำถนนภายในไว้ด้วย สามารถเข้าออกสู่ซอยสาธารณะได้สะดวกเพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 3 พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามจึงน่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2531 ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 30,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดต่ำกว่านี้ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามก็เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไปโจทก์ทั้งสามจึงไม่ควรได้รับค่าทดแทนจนเต็มราคาหรือตามที่โจทก์ทั้งสามพอใจเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ทั้งสามเสนขายที่ดินในวิถีทางธุรกิจต่อเอกชนด้วยกันนั้น เห็นว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แม้จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป รัฐก็มีหน้าที่ชดใช้ค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 25,000 บาท นั้น จึงถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ในการเวนคืนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ส่วนที่เหลือมีอาณาเขตไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 4604 มีเนื้อที่เหลือจากการเวนคืน 47 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1751เหลือเพียง 29 ตารางวา ซึ่งโจทก์ที่ 3 นำสืบว่าการเวนคืน ทำให้ราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ที่ 3 ลดลงจากตารางวาละ 30,000 บาทเหลือเพียงตาราวาละ 10,345 บาท โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่ลดลงเพราะการเวนคืนของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสาม ขณะที่มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ 3 ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคำนวณราคาที่ดินที่ลดลงออกมาใช้บังคับตามมาตรา 21 วรรคสี่ แม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ก็ตามแต่ตามมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาตามพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกานี้จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ได้ จึงต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 3ส่วนที่เหลือที่ราคาลดลงโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งโดยอนุโลม ในฐานที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ในข้อนี้ข้อเท็จจริงยุติว่าการเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน29 ตารางวา ของโจทก์ที่ 3 ถูกตัดขาดจากที่ดินเดิมจนไม่มีถนนเข้าที่ดินซึ่งเห็นได้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวย่อมมีราคาลดลงโดยสภาพ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 3รวมเป็นเงิน 144,440 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้วส่วนดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้นนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น”ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นจึงถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share