แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาลและต่อหน้าจำเลย จำเลยย่อมไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างชัดแก่ศาลได้ ลำพังแต่คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้
สำหรับคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน รวมทั้งบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและถ่ายภาพเท่านั้นเมื่อจำเลยต่อสู้ว่าถูกขู่เข็ญและให้การรับสารภาพเพราะกลัว ดังนี้ไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 371, 91, 80 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 640/2528 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80, 371, 91, 90 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีคงจำคุกจำเลย 25 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลย 25 ปี 8 เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่640/2528 ของศาลนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘มีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาล พยานโจทก์คงมีนางสาวอำภาหรือยอด ใจพล เจ้าของร้านขายสุราและอาหาร มาเบิกความว่าคืนเกิดเหตุมีจำเลย นายอานันต์ อะกินแก้วนายทองคำ อะกินแก้ว นายศรีนวลหรือมี อะกินแก้ว ผู้เสียหายกับพวกประมาณ 7-8 คน นั่งดื่มสุรากัน แต่นายศรีนวลหรือมี ผู้เสียหายกลับไปก่อน เวลาประมาณ 21 นาฬิกา มีเหตุการณ์ชุลมุนชกต่อยกันไม่นานก็เลิก เห็นนายทองคำถูกตีศรีษะโลหิตไหล มีคนพานายทองคำกลับบ้าน ส่วนนางสาวอำภาเก็บข้าวของกลับบ้านคืนนั้นนางสาวอำภาไม่ได้ยินเสียงปืน เหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนยิงนางสาวอำภาไม่ทราบ คำของนางสาวอำภาพยานโจทก์ดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ พยานโจทก์ที่เหลือมีแพทย์หญิงวิทยาภรณ์ ศรีภิรมย์ ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหาย และร้อยตำรวจตรีรุ่งเกียรติ สนแจ้ง กับร้อยตำรวจเอกนิคม สภาพพร เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนตามลำดับซึ่งล้วนแต่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้ ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ที่โจทก์ส่งศาลเอกสารหมายป.จ.3, ป.จ.4, ป.จ.5, และ ป.จ.6 นั้น ก็ปรากฏว่านายศรีนวลหรือมีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานปากเดียวที่ให้การว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนของนายแสน อะกินแก้ว นายอานันต์ อะกินแก้ว และนายเมือง ปัญโญกิจ นั้นก็ให้การว่าไม่ใช่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย พยานดังกล่าวคงให้การในชั้นสอบสวนในฐานะเป็นพยานแวดล้อมเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาต่อศาลและต่อหน้าจำเลย จำเลยย่อมไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างชัดแก่ศาลได้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายดังกล่าวไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ สำหรับบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายนั้น เมื่อจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเพราะถูกขู่เข็ญบังคับและได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะกลับพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้กรณีไม่จำต้องพิจารณาพยานจำเลยอีกต่อไป….’
พิพากษายืน.