คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มอบอำนาจให้ น.ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คตามฟ้องทั้งสามฉบับ น.ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง เมื่อ น.แต่งให้ อ.เป็นทนายความ และทนายความที่คู่ความได้ตั้งแต่งนี้ ป.วิ.พ. มาตรา 62 บัญญัติให้มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งการยื่นฟ้องคดีต่อศาลก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนพิจารณา ทนายความที่คู่ความตั้งแต่งจึงมีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องได้ และการลงชื่อในคำฟ้องของทนายความนี้ หาได้มีบทบัญญัติให้ต้องมีข้อความในคำฟ้องว่าเป็นการลงชื่อแทนคู่ความหรือในฐานะทนายความแต่อย่างใด
การที่คู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้างและมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิได้บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะในกรณีที่ศาลเห็นว่า การวินิจฉัยชี้ขาดนั้นเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างและมีคำขอเท่านั้น แม้ศาลจะเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายไม่เป็นคุณแก่คู่ความตามที่มีคำขอ ศาลก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่คู่ความนั้นได้
โจทก์เอาดอกเบี้ยเกินอัตรารวมไว้ในเช็คหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นและมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมา จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาในศาลอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบตามป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

Share