คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเดิมเป็นเรื่องโจทก์เรียกร้องหนี้เงินอันเกิดจากการที่โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าของจำเลยในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วหักชำระหนี้กัน ส่วนจำเลยให้การ ต่อสู้ในชั้นแรกอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ต่อมา กลับฟ้องแย้งว่า หากจะฟังว่าจำเลยต้องรับผิด โจทก์ทำให้จำเลย เสียหายขอให้โจทก์ชดใช้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีเงื่อนไขและ ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินไป ด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย ชอบที่ศาลจะไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยมีบำเหน็จ จำเลยตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในวงเงิน8,000,000 บาท ซึ่งจำเลยต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยโจทก์ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของวงเงินที่กู้พร้อมด้วยหลักทรัพย์อื่น ๆมาจำนำเป็นประกันการกู้ยืมเงินด้วย ต่อมาปรากฏว่าสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ลดต่ำลง ในวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ปรากฏยอดหนี้ของจำเลยเป็นเงิน 6,909,174 บาท ในขณะที่มูลค่าหุ้นที่มีอยู่ตามราคาตลาดเพียง 2,983,706.50 บาท โจทก์ได้บังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยบางส่วน คือ หุ้นของบริษัทไอ บี ซี จำกัดจำนวน 27,100 หุ้น ได้เงินทั้งสิ้น 1,641,600 บาท เมื่อหักชำระหนี้คืนแล้วคงค้างเป็นเงิน 1,823,716.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อต้นปี 2538 โจทก์ตกลงให้นายยุทธนา ธรรมเจริญ ลูกค้ารายหนึ่งของโจทก์ใช้วงเงินในบัญชีของจำเลยและยอมรับผิดแทนจำเลยในการชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและจำนวนหนี้ในส่วนที่ขาดทุนแก่โจทก์จากนั้นนายยุทธนาได้ซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของจำเลยหลายครั้งรวมทั้งหุ้นของบริษัทไอ บี ซี จำกัด จำนวน 27,100 หุ้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง อย่างไรก็ดี หากฟังว่าแม้นายยุทธนาจะเป็นผู้สั่งซื้อหุ้นในบัญชีของจำเลยตามข้อตกลงแต่จำเลยต้องรับผิดชอบในหุ้นของบริษัทไอ บี ซี จำกัด ต่อโจทก์ โจทก์ก็ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กล่าวคือหากโจทก์บังคับขายหุ้นดังกล่าวในวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 ซึ่งมีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นราคาสูงถึงหุ้นละ 105 บาท จำนวน27,100 หุ้น เป็นเงิน 2,845,500 บาท หักค่านายหน้าและค่าดอกเบี้ยแล้ว คงเหลือค่าขายหุ้นสุทธิจำนวน 2,829,156.86 บาทโดยปฏิบัติตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการ และอัตราส่วนในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน (ฉบับที่ 5)ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 34 และข้อ 35 แห่งข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ (4) แต่ปรากฏว่าโจทก์ละเลยปล่อยให้หุ้นของบริษัทไอ บี ซี จำกัด ราคาลดต่ำลงจนในวันที่ 17 มิถุนายน 2539 จึงได้ดำเนินการบังคับขายหุ้นจำนวน 23,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 60.50 บาท และ 4,100 หุ้นราคาหุ้นละ 61 บาท รวมเป็นเงิน 1,641,600 บาท หักค่านายหน้าและค่าดอกเบี้ยแล้วคงเหลือค่าหุ้นสุทธิ 1,610,924.57 บาททำให้จำเลยขาดเงินรายได้จากการขายหุ้น 1,218,232.29 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม2538 ถึงวันฟ้องแย้งจำนวน 166,714.25 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 1,384,946.54 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 1,384,946.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,218,232.29 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งที่ขอให้บังคับตามฟ้องแย้งต่อเมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาให้รับผิด ฟ้องแย้งของจำเลยถือว่ามีเงื่อนไขและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และ 179 วรรคท้าย จึงไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องเดิมเป็นเรื่องโจทก์เรียกร้องหนี้เงินอันเกิดจากการที่โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าของจำเลยในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วหักชำระหนี้กัน ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ในชั้นแรกอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ต่อมากลับฟ้องแย้งว่าหากจะฟังว่าจำเลยต้องรับผิดโจทก์ทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้โจทก์ชดใช้เช่นนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีเงื่อนไขและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามและมาตรา 179 วรรคท้าย
พิพากษายืน

Share