แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ โดยจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นสองงวด งวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทันที ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีการชำระหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ มีกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาจ่ายที่แน่นอน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 จึงพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2539 จำเลยซึ่งเป็นชาวไร่อ้อยที่ขอรับการส่งเสริมในกิจการปลูกอ้อยได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายอ้อยให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อยให้แก่จำเลย และเมื่อถึงฤดูกาลผลิตอ้อยจำเลยมีหน้าที่จะต้องตัดอ้อยนำส่งขายให้แก่โจทก์ โดยถือว่าเงินที่โจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อยให้จำเลยนั้นเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นราคาซื้ออ้อยล่วงหน้า เมื่อจำเลยตัดอ้อยมาขายให้โจทก์ก็จะนำมาหักกลบลบหนี้กัน ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โจทก์และจำเลยได้คิดบัญชีหักกลบลบหนี้กัน ปรากฏว่าจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 53,777.52 บาท จำเลยได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ ตกลงผ่อนชำระหนี้ 2 งวด งวดที่ 1 จะชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 เป็นเงิน 25,000 บาท และงวดที่ 2 จะชำระส่วนที่เหลืออีก 28,777.52 บาท ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 หากจำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด และยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ภายหลังทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปีเศษ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป เป็นเงินดอกเบี้ย 40,333.14 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 94,110.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 53,777.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมได้ออกเงินทดรองจ่ายไปแทนจำเลยจึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 เมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่จากการตัดส่งอ้อยเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นให้จำเลยผ่อนชำระทุนคืนแก่โจทก์เป็นงวดๆ มีกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนและกำหนดวันที่จะต้องชำระหนี้ไว้ชัดแจ้ง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ซึ่งจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดแรกจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 53,777.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์จ่ายเงินและวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกอ้อย เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืช เป็นต้น ให้แก่จำเลยเป็นทุนในการปลูกอ้อย โดยจำเลยสัญญาว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจำเลยจะนำอ้อยมาขายให้แก่โจทก์ โดยถือว่าเงินและสิ่งของที่โจทก์ให้จำเลยเป็นทุนในการปลูกอ้อยเป็นเงินค่าซื้ออ้อยล่วงหน้า เมื่อจำเลยส่งอ้อยให้โจทก์ก็คิดหักราคากัน ครั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยจำเลยไม่ได้นำอ้อยมาขายให้แก่โจทก์ตามสัญญา วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ โดยยอมรับว่ามีหนี้ค้างชำระโจทก์อยู่เป็นเงิน 53,777.52 บาท ปรากฏตามหนังสือรับสภาพหนี้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ออกทุนให้จำเลยไปปลูกอ้อยเมื่อคิดหักบัญชีกันแล้วยังเหลือเงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 53,777.52 บาท เมื่อจำเลยมาทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวนดังกล่าว และในข้อ 2 ของหนังสือรับสภาพหนี้มีข้อตกลงว่า จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็น 2 งวด งวดที่ 1 ชำระเป็นเงิน 25,000 บาท ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 และงวดที่ 2 ชำระส่วนที่เหลือทั้งหมดภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทันที กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยเรียกเอาจำนวนเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ มีกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาจ่ายที่แน่นอน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 คือ วันที่ 1 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 จึงพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์