คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง แม้จะไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่ในระหว่างกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขีดฆ่าอากรแสตมป์และโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้วจึงถือว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แล้ว ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีโดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,566,658 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.75 ต่อเดือนนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 610,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถพิพาทไปจากโจทก์ในราคา 4,024,986 บาท ตกลงชำระ 42 งวด งวดละ 95,833 บาทต่อเดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 20 งวด เป็นเงิน 1,916,660 บาท แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 21 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2535โจทก์จึงไปยึดรถพิพาทคืนมาในวันที่ 5 เมษายน 2536 ต่อมาโจทก์ได้นำรถพิพาทออกขาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาที่ว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกการที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยทั้งสองก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในชั้นฎีกาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาตและโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้วตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาดังนี้ แม้จะไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่ในระหว่างกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขีดฆ่าอากรแสตมป์และโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว จึงถือว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสราวุธ แก้วนุ่ม ฟ้องคดีโดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 21ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2535 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2536 โจทก์ติดตามยึดรถพิพาทคืนจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันแล้ว ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนนับแต่จำเลยที่ 1ผิดนัดจนโจทก์ยึดรถคืน โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจได้รับประโยชน์จากรถพิพาท จำเลยทั้งสองจึงต้องใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ซึ่งโจทก์นำสืบว่าหากให้เช่ารถพิพาทจะได้ค่าเช่าในอัตราไม่ต่ำกว่าเดือนละ 95,833 บาท แต่โจทก์ขอคิดเดือนละ60,468 บาท ซึ่งเป็นการเบิกความด้วยบุคคลโดยไม่มีเอกสารการให้เช่ามาแสดง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าให้เช่าได้ราคาถึงเดือนละ 60,468 บาทตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เดือนละ15,000 บาท รวมเวลา 4 เดือนเป็นเงิน 60,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดเพิ่มเติมให้ สำหรับค่าเสียหายในค่าขาดราคาที่เช่าซื้อนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ว่า ราคาที่แท้จริงคือ2,800,000 บาท โจทก์คิดค่าธรรมเนียมเช่าซื้อในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี จากระยะเวลาที่เช่าซื้อ 42 เดือน จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว 20 งวด เป็นเงิน 1,916,660 บาทจึงเป็นการชำระเฉพาะต้นเงิน 1,333,333 บาท เมื่อนำไปรวมกับเงินจำนวน 930,000 บาท ที่โจทก์ได้จากการนำรถพิพาทออกประมูลขายแล้วนำไปหักออกจากราคาที่แท้จริงคงเหลือราคาที่ขาดอยู่ 536,667บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์
สำหรับความเสียหายในค่าซ่อมรถพิพาทนั้นน่าเชื่อว่าโจทก์ได้เสียค่าซ่อมไปตามเอกสารดังกล่าวเป็นจำนวน 141,460 บาทจริง จึงเห็นควรกำหนดค่าซ่อมรถพิพาทให้เป็นจำนวน 141,460 บาท
ส่วนค่าเสียหายในการติดตามยึดรถพิพาทคืนนั้นโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ว่าจ้างให้สิบเอกวีรพล ปานสถิตย์ไปติดตามยึดรถพิพาทคืน โดยเสียค่าใช้จ่าย 5,000 บาท ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความหรือพยานเอกสารมาส่งอ้างประกอบเพื่อให้รับฟังได้ว่า มีค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถพิพาทคืนในจำนวนดังกล่าวจริง จึงไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ รวมค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์คือค่าขาดประโยชน์ 60,000 บาท ค่าขาดราคา 536,667 บาท และค่าซ่อม 141,460 บาท รวมเป็นเงิน 738,127 บาท และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน738,127 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share