คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7777/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียน ซึ่งเป็นอาวุธปืนของกลางรวมทั้งสิ้น 3 กระบอก ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสามด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคหนึ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยมีอาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเอง เมื่อเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียน จำเลยจึงมีความผิด ในส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและซ่อมแซมอาวุธปืนเท่านั้น อาวุธปืนดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด อันจะพึงต้องริบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32และมิใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามมาตรา 33(1) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้คืนอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวแก่เจ้าของตามที่ปรากฏชื่อทางทะเบียน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับจ้างซ่อมแซมอาวุธปืนแก็ปของผู้มีชื่อจำนวน 3 กระบอก อันเป็นการรับจ้างซ่อมสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยมีอาวุธปืนยาวประจุปาก(ปืนแก็ป) ชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาดปากลำกล้อง 7 มิลลิเมตรลำกล้องยาว 120 เซนติเมตร ไม่มีหมายเลขทะเบียนและเลขเครื่องหมายประทับอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับ ที่ใช้ยิงได้อาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป)ชนิดประกอบขึ้นเองขนาดปากลำกล้อง กว้าง 10 มิลลิเมตร ลำกล้องยาว105 เซนติเมตร ไม่มีหมายเลขทะเบียนและเลขเครื่องหมายประทับอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับ ที่ใช้ยิงได้อาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเองขนาดปากลำกล้องกว้าง 17 มิลลิเมตร ลำกล้องยาว99 เซนติเมตร เครื่องหมายทะเบียนที่ปรากฏ อบ 17/156ไม่สามารถใช้ยิงได้รวมอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองทั้งสิ้น 3 กระบอก โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนแก๊ปจำนวน3 กระบอกดังกล่าว ลำกล้องปืนแก๊ป 5 ลำกล้อง กระบอกสูบ2 คู่ สว่าน 1 อัน ค้อนสำหรับตีเหล็ก 1 อัน ตะไบ 3 อันบุ้ง 1 อัน แผ่นทองเหลือง 2 แผ่น และเหล็กอุปกรณ์สำหรับประกอบอาวุธปืนแก๊ป 1 ชุด ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยมีไว้และใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,24, 72, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 24, 72 วรรคแรก,73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานซ่อมแซมอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 6,000 บาท ข้อหาซ่อมแซมอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 10,000 บาทรวมปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงปรับ 8,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยได้ฟื้นฟูจิตสำนึกอีกทางหนึ่งเห็นควรให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ด้วย
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นโดยเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียน รวมทั้งสิ้น 3 กระบอกไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โดยจะต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม ด้วย ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยืนตามศาลชั้นต้นในส่วนนี้นั้นจึงไม่ถูกต้องและสำหรับอาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเองขนาดปากลำกล้องกว้าง 17 มิลลิเมตร ลำกล้องยาว 99 เซนติเมตรเครื่องหมายทะเบียนที่ปรากฏ อบ 17/156 จำนวน 1 กระบอกนั้นเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียน ซึ่งความผิดของจำเลยเป็นความผิดในส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและซ่อมแซมอาวุธปืนเท่านั้นอาวุธปืนดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32และมิใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องอีกเช่นกันปัญหาทั้งสองประการข้างต้น แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์และฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสามการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปีคืนอาวุธปืนยาวประจุปากปืนแก๊ป) หมายเลขทะเบียนอบ 17/156 ของกลาง แก่เจ้าของตามที่ปรากฏชื่อทางทะเบียนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share