คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การวางทรัพย์ต่อศาลเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ข้อ 21แม้จะมี พ.ร.ฎ. ให้สำนักงานวางทรัพย์กลางเป็นส่วนราชการ ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม การวางทรัพย์ก็ยังคงเป็นงาน ที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมอยู่ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการวางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีฯ ข้อ 2 กำหนดว่า ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกอาจวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ได้ในกรณี ต่อไปนี้…(5) กรณีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น (6) กรณีตามคำสั่ง ศาลภายใต้บทบัญญัติแห่ง กฎหมาย เช่นป.วิ.พ. มาตรา 264 ดังนั้น การวางเงินค่าทดแทนต่อศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคแรก ย่อมหมายถึงการวางเงินค่าทดแทนต่อสำนักงาน วางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์นำเงินค่าทดแทนที่โจทก์ไม่ยอมรับไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางดังกล่าวถือว่าเป็นการวางเงินค่าทดแทนต่อศาลโจทก์รับเงินแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่โจทก์เห็นว่า ควรจะได้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนต่อศาล ดังนี้คดีจึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกให้โจทก์ 2,563,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงิน1,896,800 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินด้วยความเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่โจทก์ยังไม่ยินยอมตกลงต่อศาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2528โจทก์รู้ถึงการวางทรัพย์ดังกล่าวโดยไปรับเงินค่าทดแทนแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วางทรัพย์ คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ตามกฎหมายอื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนต่อศาล สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนส่วนที่โจทก์เห็นว่าควรจะได้จึงขาดอายุความ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าที่ดินโฉนดที่ 20599 ของโจทก์ซึ่งอยู่ในท้องที่เขตยานนาวา เนื้อที่224 ตารางวา ได้ถูกกำหนดเป็นแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์เป็นเงิน 343,200 บาทโจทก์ไม่พอใจอ้างว่าที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในย่านธุรกิจการค้ามีราคาตารางวาละ 10,000 บาท ค่าที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน2,240,000 บาท และไม่ยอมรับค่าทดแทนที่จำเลยกำหนด จำเลยจึงได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2528 โจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว และได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนที่โจทก์ควรจะได้ต่อศาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2529
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า ในกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทน ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นำเงินไปวางต่อศาลจำเลยนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีไม่ได้เป็นการไม่ชอบ อายุความจึงไม่เริ่มนับ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515ข้อ 21 กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมแต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี การวางทรัพย์ต่อศาลถือได้ว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2518 ใช้บังคับให้สำนักงานวางทรัพย์กลางเป็นส่วนราชการของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ก็ตาม การวางทรัพย์ก็ยังคงเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมอยู่ ทั้งกระทรวงยุติธรรมได้ออกระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการวางทรัพย์สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี พ.ศ. 2518 ในข้อ 2 ระบุว่าลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกอาจวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ได้ในกรณีต่อไปนี้

ฯลฯ
(5) กรณีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น
(6) กรณีตามคำสั่งศาลภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ดังนั้น การวางเงินค่าทดแทนต่อศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคแรกย่อมหมายถึงการวางเงินค่าทดแทนต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นำเงินค่าทดแทนที่โจทก์ไม่ยอมรับไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ตามนัยแห่งระเบียบดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2528 ซึ่งถือว่าเป็นการวางเงินค่าทดแทนต่อศาลแล้ว โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วและฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่โจทก์ควรจะได้เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2529 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางเงินค่าทดแทนต่อศาล คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.

Share