คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5385/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ตามสัญญากู้เงินระบุวันครบกำหนดสัญญาไว้ ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยทั้งสามจะอ้างว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าซื้อตึกแถวจากผู้ซื้อตึกแถวหักชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นงวดและไม่มีกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนและนำพยานบุคคลมาสืบตามข้ออ้างดังกล่าวเพื่อที่จะให้ศาลรับฟังว่า หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ปัญหาที่ว่า ม. ทนายความได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์ แต่โจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจที่ให้ ม. มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 728 เป็นปัญหาที่จำเลยมิได้ยกต่อสู้ไว้ในคำให้การ และมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงิน ตาม พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษ โดยมีอัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 ร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสามให้การในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยแต่เพียงว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องร้องสูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 ต่อปี คำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องสูงกว่ากฎหมายอะไร และเพราะเหตุใดจึงไม่ควรเกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 249

Share