แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินผู้คัดค้านจำนวน 5,000,000 บาทและได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้ผู้คัดค้านไว้กำหนดชำระเงินเมื่อทวงถาม จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1เป็นผู้ให้เช่าซื้อไปให้ผู้คัดค้านจำนวน 84 รายเป็นเงิน6,761,375 บาท เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งกระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ล้มละลาย โดยผู้คัดค้านรับโอนมาโดยไม่สุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ย่อมขอให้เพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากผู้เช่าซื้อต่อไปได้ ส่วนผู้คัดค้านต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับไว้แล้วตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดในเงินค่าเช่าซื้อที่ยังมิได้รับชำระ การเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 เป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ ยังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่ผู้คัดค้านต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2427 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ต่อมาวันที่29 สิงหาคม 2529 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อมีต่อผู้เช่าซื้อเป็นจำนวน 85 รายให้แก่ผู้คัดค้าน โดยในขณะที่ทำสัญญานั้น จำเลยที่ 1ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อทั้ง 85 รายเป็นเงินจำนวน 6,761,375 บาท การทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ กท. 792-200-26 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2526 ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมไปจากผู้คัดค้านเป็นจำนวน 5,000,000 บาท ผู้คัดค้านได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 85 ราย ทราบการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว และได้เรียกเงินจากผู้เช่าซื้อรถยนต์ตลอดมาจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2528 ผู้คัดค้านได้รับเงินจากผู้เช่าซื้อรถยนต์เป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 3,680,698 บาท เป็นการรับโอนมาโดยไม่สุจริต การโอนได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เพื่อให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านเสีย ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 6,761,374 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้คัดค้านไม่ใช่หลักประกัน หากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ได้ออกให้แก่ผู้คัดค้านแทนเงินสด ตามยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้คัดค้านซึ่งผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ และการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1กับผู้คัดค้านก็ได้กระทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นการโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แม้จะเป็นการโอนภายในกำหนด 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องได้ ผู้คัดค้านได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องจากผู้เช่าซื้อรถยนต์มาเพียง 3,600,000 บาท เท่านั้นขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2526 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านเสีย ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน6,761,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่าคำขอเรื่องดอกเบี้ยของผู้ร้องในกรณีชดใช้ราคาแทนนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินผู้คัดค้านจำนวน 5,000,000 บาท ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ กท. 792-200-26 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน5,000,000 บาท กำหนดชำระเงินเมื่อทวงถาม ตามเอกสารหมาย ค.1มอบให้ผู้คัดค้าน ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ผู้คัดค้าน ตามเอกสารหมาย ค.2 หรือ ร.4 ซึ่งเป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งผู้คัดค้านฎีกาว่า แม้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.4 (ค.2) ข้อ 3จะระบุไว้ว่า “การโอนสิทธิในการเป็นผู้ให้เช่าซื้อและโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ผู้รับโอนตามสัญญานี้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอน” ก็ตาม แต่ตามเอกสารหมาย ร. (ค.2) ข้อ 8 ก็ระบุไว้ว่า “สัญญานี้ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ผู้รับโอนมีสิทธิที่จะบังคับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวในข้อ 3 และหรือบังคับหนี้ตามสัญญานี้ก็ได้” และในข้อ 7 ยังมีข้อความระบุไว้ว่า “…หากผู้รับโอนไม่ได้รับชำระหนี้จากผู้เช่าซื้อ และหรือได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วนไม่ว่าด้วยเหตุกรณีใด ๆ ก็ตาม ผู้โอนยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอนจนครบถ้วนตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวในข้อ 3″ อันเป็นการแสดงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ประสงค์ที่จะให้ผู้เช่าซื้อเข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน หาใช่เป็นการให้หลักประกันดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.4 (ค.2) ข้อ 3 จะได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่า การโอนสิทธิดังกล่าวเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วยังได้ความจากคำให้การของนายณรงค์ สงวนทรัพย์ทวี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนผู้คัดค้าน นายแก่นสาร สันตะกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลยที่ 1 และนายทรงศักดิ์ พันธ์สถิตย์วงศ์รักษาการผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของผู้คัดค้าน ซึ่งทั้งสามคนได้ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่างยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องลงวันที่8 ธันวาคม 2526 ให้ไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ปรากฏตามคำให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกสารหมาย ร.7, ร.9 และ ร.12 ตามลำดับนอกจากนั้นภายหลังการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย ร.4 (ค.2)ดังกล่าวแล้ว ผู้คัดค้านยังได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ร.5 อีก อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นเด่นชัดว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ หาใช่เพื่อเป็นการชำระหนี้ไม่ส่วนตามเอกสารหมาย ร.4 (ค.2) ข้อ 8 และข้อ 7 ตามที่ผู้คัดค้านฎีกาโต้เถียงนั้น เห็นว่า เป็นข้อสัญญาที่เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนต่อผู้รับโอนในกรณีที่บังคับเอาจากหลักประกันได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกทั้งผู้คัดค้านไม่เคยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับก่อน ๆ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินให้ผู้คัดค้านเมื่อถูกทวงถาม ผู้คัดค้านจึงได้จัดการให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นหลักประกันในเวลาต่อมา ซึ่งข้อนี้นายทรงศักดิ์ พันธ์สถิตย์วงศ์รักษาการผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของผู้คัดค้านก็ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.12 ยอมรับว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดสภาพคล่องในการหมุนเวียนเงินทุนจึงต้องทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องให้ไว้เป็นหลักประกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า ผู้คัดค้านได้ทราบถึงสถานะการเงินที่ไม่มั่นคงของจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยไม่สุจริตไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เมื่อการโอนได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านฎีกาข้อต่อไปว่า หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้อง ผู้คัดค้านควรต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อเพียงที่ได้รับมาแล้วจำนวน 3,164,253 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 6,761,375บาท ตามจำนวนค่าเช่าซื้อทั้งหมดในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากผู้เช่าซื้อต่อไปได้ส่วนผู้คัดค้านคงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับไว้แล้วตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อเท่านั้นผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดในเงินค่าเช่าซื้อที่ยังมิได้รับชำระ ซึ่งเงินจำนวนนี้ผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้ชัดว่าผู้คัดค้านได้รับมาแล้วเท่าใดคงกล่าวอ้างไว้ในคำร้องว่านับถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2528ผู้คัดค้านได้รับเงินค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อเป็นเงินทั้งสิ้น3,680,698 บาท และคำคัดค้านของผู้คัดค้านก็มิได้ปฏิเสธยอดเงินจำนวนนี้โดยชัดแจ้ง คงต่อสู้แต่เพียงว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ผู้คัดค้านใช้เงินเต็มจำนวนค่าเช่าซื้อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น จึงต้องฟังว่า ผู้คัดค้านได้รับเงินค่าเช่าซื้อมาแล้วจำนวน 3,680,698 บาท และต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อผู้คัดค้านรับโอนโดยไม่สุจริตซึ่งถูกศาลสั่งให้เพิกถอนการโอนไม่ชำระหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้อง และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำขอในส่วนดอกเบี้ยโดยผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนและการที่ศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่ผู้คัดค้านต้องรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำขอเรื่องดอกเบี้ยของผู้ร้องในกรณีชดใช้ราคาแทนทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้เงิน 3,680,698 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์