คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้สำหรับจำนวนเงินที่ได้เบิกไปในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และในสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันกับสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ก็ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตรา ดังกล่าว สำหรับหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 4 ฉบับนั้น ฉบับแรกไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ อัตราดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ฉบับที่สองและฉบับที่สามกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 17.5 ต่อปีเป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 19 ต่อปีเป็นร้อยละ 17.5 ต่อปี และฉบับที่สี่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สามคือร้อยละ 17.5 ต่อปีดังนี้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ชำระดอกเบี้ยไม่เกินกว่าอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนโจทก์เกินกว่าทุนทรัพย์ที่จำเลยที่2 ต้องรับผิด เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนโจทก์นั้นเป็นจำนวนน้อยและต่ำกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดมากจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดลงหรือแยกให้จำเลยที่ 2 รับผิด ศาลฎีกาจึงให้จำเลยที่ 2ร่วมชำระค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,143,481.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปีจากต้นเงิน 1,949,955.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2534 อันเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือทวง>ถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยได้เท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1เพียง 600,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันและจำนองเท่านั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2534อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด หลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,095,539.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2531 เมื่อคิดได้ยอดเงินเท่าใดให้ถือเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2531ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน2533 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยถึงวันที่ 19 มกราคม 2531 และดอกเบี้ยไม่ทบต้น อัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ไม่เกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1ชำระหนี้จนครบ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อ 2 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้สำหรับจำนวนเงินที่ได้เบิกไปในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และในสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันกับสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 ก็ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราดังกล่าวสำหรับหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 4 ฉบับนั้น ฉบับแรกเอกสารหมาย จ.11ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ อัตราดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ฉบับที่สองและฉบับที่สามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ17.5 ต่อปี เป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ19 ต่อปี เป็นร้อยละ 17.5 ต่อปี และฉบับที่สี่เอกสารหมายจ.14 ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สาม เอกสารหมาย จ.13 คือร้อยละ 17.5 ต่อปีดังนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยไม่เกินกว่าอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้กำหนดความรับผิดค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความลดลงตามส่วนเพราะจำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้น้อยกว่าจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินไม่เกิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาทจึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนโจทก์เกินกว่าทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนโจทก์นั้นเป็นจำนวนน้อยและต่ำกว่าอัตราขั้นสูง ที่กฎหมายกำหนดมากจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดลงหรือแยกให้จำเลยที่ 2 รับผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share