แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1750การแบ่งมรดกนั้นสามารถกระทำได้สอบประการคือโดยทายาทเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดซึ่งไม่มีแบบที่กฎหมายกำหนดไว้และไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำสัญญาแบ่งมรดกเป็นหนังสือประการหนึ่งกับการแบ่งมรดกโดยทำสัญญาเป็นหนังสืออีกประการหนึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิเรียกร้องตามข้อตกลงการแบ่งมรดกโดยการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดระหว่างโจทก์กับค.มารดาจำเลยทั้งห้าจำเลยทั้งห้าได้ให้การและฟ้องแย้งว่าค.ไม่เคยตกลงแบ่งมรดกและครอบครองเป็นส่วนสัดแต่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันและแทนกันจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเลยว่าการแบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือตามเอกสารหมายล.7ดังนี้ที่จำเลยฎีกาว่าแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดกประเภทโอนมรดกตามเอกสารหมายล.7เป็นสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นางคอง อภิบาลศรี มารดาของจำเลยทั้งห้าและนายคูณ รัตนพิทักษ์ เป็นบุตรของนายขวย รัตนพิทักษ์และนายแซง รัตนพิทักษ์ นายขวยและนางแซง มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3183 เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวาและบ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 4 นายขวย ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2520ส่วนนางแซงถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2523 หลังจากนางแซงถึงแก่กรรมไปแล้วทายาทของนายขวยและนางแซงได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยนายคุณ รัตนพิทักษ์ ไม่ขอรับมรดกนางคอง อภิบาลศรี ขอรับมรดกเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ส่วนที่เหลือยกให้แก่โจทก์ แต่เมื่อไปติดต่อเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่ตกลงกันไว้เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่านางคองจะสละมรดกเพียงบางส่วนไม่ได้ โจทก์และนางคองจึงขอรับมรดกรวมกัน หลังจากนั้นได้แบ่งแยกการครอบครองกันเป็นส่วนสัดในที่ดินส่วนที่นางคองครอบครองอยู่นั้น นางคองได้ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ปลูกบ้านอยู่อาศัย นางคองได้ทำนาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนของตน ต่อมานางคองได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2531 โจทก์จึงบอกให้ทายาทของนางคองไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดกันให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2533 จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของนางคองได้ไปยื่นคำขอรับโอนมรดกที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตราด โดยจะขอรับมรดกกึ่งหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3183 และบ้านเลขที่ 120 โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งห้าดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามที่นางคองครอบครองไว้ แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้างร่วมกันจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3183พร้อมบ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 4 โดยแบ่งแยกส่วนที่นางคอง อภิบาลศรีครอบครองประมาณ 3 ไร่ ออกจากส่วนของโจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ยอมไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และนางคอง อภิบาลศรีไม่เคยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์กล่าวอ้าง นางคองมีสิทธิกึ่งหนึ่งในทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 3183 จำเลยทั้งห้าได้ไปยื่นคำขอรับโอนมรดกที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดในส่วนของนางคอง อภิบาลศรี เป็นเนื้อที่กึ่งหนึ่งแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยทั้งห้า ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 3183 แก่จำเลยทั้งห้า หรือส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดและให้โจทก์ไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวและบ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 4 ให้แก่จำเลยทั้งห้ากึ่งหนึ่ง หากโจทก์ไม่ยอมไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งมีเนื้อความทำนองเดียวกับคำฟ้องขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 3183แก่จำเลยทั้งห้าหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตราด แล้วให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ดินแปลงดังกล่าวและบ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 4 ให้แก่จำเลยทั้งห้ากึ่งหนึ่ง หากโจทก์ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3183 เฉพาะส่วนภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ออกจากส่วนของโจทก์ หากจำเลยทั้งห้าหรือคนใดคนหนึ่งไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่ามีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วหรือไม่ โดยจำเลยทั้งห้าฎีกาเป็นประเด็นแรกว่าแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดกประเภทโอนมรดกเอกสารหมาย ล.7 เป็นสัญญาแบ่งมรดก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”การแบ่งทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การแบ่งมรดกนั้นสามารถกระทำได้สองประการคือ โดยทายาทเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดซึ่งไม่มีแบบที่กฎหมายกำหนดไว้และไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำสัญญาแบ่งมรดกเป็นหนังสือประการหนึ่ง กับการแบ่งมรดกโดยทำสัญญาเป็นหนังสืออีกประการหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิเรียกร้องตามข้อตกลงการแบ่งมรดกโดยการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว ระหว่างโจทก์กับนางคองมารดาจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าได้ให้การและฟ้องแย้งว่า นางคองไม่เคยตกลงแบ่งมรดกและครอบครองเป็นส่วนสัด แต่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันและแทนกันนางคองจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเลยว่าการแบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ล.7 จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า นางคองกับจำเลยทั้งห้าและโจทก์ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินมรดกอย่างไร ในประเด็นนี้ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์และนางคองได้มีการตกลงแบ่งมรดก โดยนางคองขอรับมรดกเพียงบางส่วนทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ดินประมาณ 3 ไร่หรือไม่ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และนางคองได้ตกลงแบ่งมรดกกันและได้ครอบครองที่ดินมรดกกันเป็นส่วนสัด โดยนางคองได้ที่ดินในบริเวณเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 ดังนั้นนางคองหรือทายาทหามีสิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้ครอบครองอยู่ไม่
พิพากษายืน