คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7774/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า “มึงไม่นักเลง พ่อมึงถูกกูฆ่าตั้งแต่เล็ก ๆ มึงไม่มีน้ำยา” จำเลยตอบว่า “เสร็จแล้วก็ให้เสร็จกันไป” ผู้ตายพูดว่า”เสร็จแต่มึง กูไม่เสร็จ” เป็นการพูดในบริเวณงานต่อหน้าผู้มาร่วมงานศพจำนวนหลายคน ทั้งผู้ตายถูกกล่าวหาว่าฆ่าบิดาจำเลย แต่ต่อสู้คดีจนพ้นความผิด ที่ผู้ตายกล่าวถ้อยคำตอกย้ำความรู้สึกของจำเลยว่าผู้ตายฆ่าบิดาจำเลยตั้งแต่จำเลยยังเป็นเด็ก แต่จำเลยก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำอะไรได้ แม้จำเลยจะพูดโต้ตอบไปว่าไม่ติดใจในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้ตายก็ยังพูดทำนองท้าทายจะเอาเรื่องกับจำเลยอีกย่อมเป็นการเย้นหยันสบประมาทต่อจำเลยอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองขึ้นมาโดยทันใดอย่างมาก ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยหยิบมีดพร้าในบริเวณที่เกิดเหตุฟันผู้ตายในขณะนั้น 1 ครั้ง ที่บริเวณศีรษะจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดพร้าไม่ปรากฏขนาด 1 เล่ม เป็นอาวุธฟันนายคล้อย มีชนะหรือคงปาน ที่บริเวณศีรษะโดยเจตนาฆ่า คมมีดถูกศีรษะนายคล้อย กะโหลกศีรษะแตก เป็นเหตุให้นายคล้อยถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 33 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายวิรัตน์ มีชะนะ บุตรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 20 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 4 เดือนริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า ที่ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า “มึงไม่นักเลงพ่อมึงถูกกูฆ่าตั้งแต่เล็ก ๆ มึงไม่มีน้ำยา” และจำเลยตอบว่า “เสร็จแล้วก็ให้เสร็จกันไป” ผู้ตายพูดว่า “เสร็จแต่มึง กูไม่เสร็จ” คำพูดดังกล่าวของผู้ตายที่พูดกับจำเลยนั้นเป็นการเหยียดหยามดูถูก ซึ่งเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงต่อหน้าคนจำนวนมากและจำเลยได้ฟันผู้ตายในทันใด เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่จำเลยจะฟันผู้ตาย ผู้ตายกับจำเลยมีการพูดโต้ตอบกันตามคำพูดดังที่จำเลยฎีกา แล้วจำเลยจึงใช้มีดพร้าฟันผู้ตาย 1 ครั้งถูกบริเวณศีรษะ ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายได้พูดกับจำเลยด้วยถ้อยคำว่า “มึงไม่นักเลง พ่อมึงถูกกูฆ่าตั้งแต่เล็ก ๆ มึงไม่มีน้ำยา” จำเลยตอบว่า “เสร็จแล้วก็ให้เสร็จกันไป” ผู้ตายพูดว่า “เสร็จแต่มึง กูไม่เสร็จ” ในบริเวณงานศพต่อหน้าผู้มาร่วมงานศพจำนวนหลายคน ทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนางฉ้อน มีชะนะภรรยาผู้ตายว่า ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าบิดาจำเลย แต่ผู้ตายต่อสู้คดีจนพ้นความผิด พฤติการณ์แห่งคดีในลักษณะเช่นนี้ ที่ผู้ตายกล่าวถ้อยคำต่อหน้าจำเลยและบุคคลอื่นอีกหลายคนตอกย้ำความรู้สึกของจำเลยว่าผู้ตายฆ่าบิดาจำเลยตั้งแต่จำเลยยังเป็นเด็ก แต่จำเลยก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำอะไรได้ แม้จำเลยจะพูดโต้ตอบไปว่าไม่ติดใจในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ตายก็ยังพูดทำนองท้าทายจะเอาเรื่องกับจำเลยอีกย่อมเป็นการเย้นหยันสบประมาทต่อจำเลยอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองขึ้นมาโดยทันใดอย่างมาก ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมดังนั้นการที่จำเลยหยิบมีดพร้าในบริเวณที่เกิดเหตุฟันผู้ตายในขณะนั้น 1 ครั้งที่บริเวณศีรษะจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 4 ปี ริบของกลาง

Share