คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของนายวงในการเล่นแชร์นั้นย่อมแล้วแต่ตกลงสัญญากัน จะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย คือ อาศัยระเบียบหรือวิธีปฏิบัติที่เคยเล่นกันมาก็ได้ และจะอ้างประเพณีการเล่นแชร์มาใช้ก็ได้ในเมื่อหมายถึงการตกลงเล่นแชร์ตามวิธีที่เคยปฏิบัติกันมานั่นเอง จึงถือว่าได้ตกลงโดยปริยายเช่นนั้น
นายวงแชร์รับเงินลงแชร์จากลูกวง แล้วออกใบรับเงินซึ่งตนเป็นผู้ลงชื่อให้ยึดถือไว้ เงินที่รวบรวมจากลูกวงนั้นนายวงเอาไปให้ผู้ที่ประมูลหรือเปียแชร์ได้ โดยผู้ที่ประมูลได้นั้นต้องทำหนังสือสัญญากู้เงินให้นายวงไว้เท่ากับจำนวนที่ผู้นั้นจะต้องส่งเงินแชร์ต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายดังนี้ ทำให้นายวงมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากผู้ทำสัญญากู้ดังว่าเป็นเงินของนายวงเองลูกวงคนอื่นๆ หาได้เป็นเจ้าหนี้ด้วยไม่ การที่นายวงรับเงินจากลูกวงจึงเป็นการรับโดยมีข้อตกลงโดยปริยายว่านายวงจะเป็นผู้รับผิดคืนเงินนี้ให้เมื่อลูกวงนั้นๆ ประมูลได้ หรือรับเป็นมือท้าย นายวงจึงต้องรับผิดในเงินที่รับไปจากลูกวงแล้วและนายวงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงคนกลางเพราะลูกวงไม่ได้ตกลงเล่นแชร์กันเอง แต่เล่นกับนายวง
นายวงจ่ายเงินให้ผู้ประมูลได้โดยทำสัญญาเป็นลูกหนี้นายวงนายวงจึงไม่ใช่ผู้ค้ำประกันอย่างค้ำประกันลูกหนี้ จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นค้ำประกันธรรมดา
ลูกวงที่ต้องส่งเงินลงแชร์ให้นายวงเดือนละ 1,000 บาท แม้จะส่งจริงไม่ถึง 1,000 บาทเพราะหักดอกเบี้ยที่นายวงจะพึงไปเก็บจากผู้ประมูลได้มาชำระให้ไว้เสียเลย เมื่อส่งเงินลงแชร์ได้ 10 ครั้งแล้วแชร์ล้ม ลูกวงมีสิทธิอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของนายวงอยู่เป็นจำนวนแน่นอนคือ 10,000 บาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้เงินค่าแชร์โจทก์ 10,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระให้ทั้งถือได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาด

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ โจทก์เป็นลูกวงเล่นแชร์กัน15 มือ ๆ ละ 1,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนายวงและลูกวงต้องส่งเงินทุกเดือนตามจำนวนมือที่เล่น วงที่โจทก์ฟ้องนี้โจทก์เล่น 1 มือส่งเดือนละ 1,000 บาทเดือนแรกเป็นของนายวงโดยไม่ต้องประมูลและไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เดือนต่อ ๆ ไปใครประมูลให้ดอกเบี้ยสูงกว่าก็ได้เงินไป แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่าที่ประมูลให้แก่ผู้ลงเงินทุกคนการส่งเงินแชร์จำเลยออกใบรับเงินให้ เมื่อผู้ใดประมูลหรือเปียได้ต้องทำหนังสือกู้เงินให้จำเลยยึดถือไว้เท่าจำนวนเงินที่จะต้องส่งต่อไปเดือนละ 1,000 บาทจนถึงเดือนสุดท้าย แชร์เล่นกันมาได้ 10 เดือนก็ล้มเลิก โจทก์ยังไม่ได้เปียแชร์และจำเลยได้รับเงินลงแชร์ไปจากโจทก์แล้วรวม 10 ครั้ง ทำใบรับเงินให้โจทก์ถือไว้ 10 ฉบับแต่ละฉบับระบุว่าได้รับเงิน 1,000 บาท เมื่องดการเล่นแชร์แล้วจำเลยแจ้งว่าจะคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งหมด แต่แล้วก็ไม่ชำระและหลบหนีออกจากบ้าน

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหามีว่า จำเลยผู้เป็นนายวงจะต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์หรือไม่และวินิจฉัยว่า

1. ความรับผิดของนายวงในการเล่นแชร์ย่อมแล้วแต่ตกลงสัญญากันจะเป็นการตกลงกันโดยตรงหรือโดยปริยายอาศัยระเบียบวิธีปฏิบัติที่เคยเล่นกันมาก็ได้ คดีนี้ จำเลยเป็นนายวงรับเงินจากลูกวงแล้วออกใบรับเงินที่จำเลยเป็นผู้ลงชื่อให้ยึดถือไว้ ส่วนที่ประมูลหรือเปียได้ต้องทำหนังสือสัญญากู้ให้จำเลยไว้ โดยจำเลยเอาเงินที่ตนรับมาจ่ายให้ผู้ทำสัญญากู้ไป ทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากผู้ทำสัญญากู้ดังว่าเป็นเงินของจำเลยเอง ลูกวงคนอื่น ๆหาได้เป็นเจ้าหนี้ด้วยไม่ ดังนั้นการที่จำเลยรับเงินจากลูกวงจึงมีข้อตกลงโดยปริยายว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดคืนเงินนี้ให้เมื่อประมูลได้หรือรับเป็นคนสุดท้ายโดยไม่ต้องประมูล และเรื่องนี้จำเลยไม่ใช่เพียงเป็นคนกลางเพราะลูกวงไม่ได้ตกลงเล่นแชร์กันเองแต่ตกลงเล่นแชร์กับจำเลย ๆ ออกใบรับเงินให้ และจำเลยจ่ายเงินเองในฐานะที่ตนเป็นเจ้าหนี้จำเลยจึงต้องรับผิดในการรับเงินของผู้ที่เล่นแชร์กับจำเลย

2. ที่จำเลยคัดค้านว่า การเล่นแชร์ไม่มีประเพณีที่กฎหมายรับรองจะเอาประเพณีมาใช้ไม่ได้นั้น เห็นว่า เรื่องเล่นแชร์นี้เป็นเรื่องตกลงสัญญากัน ประเพณีที่โจทก์อ้างหมายถึงการตกลงเล่นแชร์ตามวิธีที่เคยปฏิบัติกันมานั่นเองซึ่งถือว่าได้ตกลงโดยปริยายเช่นนั้น

3. จำเลยจ่ายเงินให้ผู้ประมูลได้โดยทำสัญญาเป็นลูกหนี้จำเลยมิได้เป็นลูกหนี้ลูกวงคนอื่นจำเลยผู้เป็นนายวงจึงไม่ใช่ผู้ค้ำประกันอย่างค้ำประกันลูกหนี้ เป็นแต่นายวงรับเงินจากลูกวงโดยรับรองว่าจะคืนเงินให้เมื่อถึงเวลาที่เขามีสิทธิจะได้รับเงิน นายวงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นค้ำประกันธรรมดา

4. จำเลยรับเงินจากโจทก์เดือนละ 1,000 บาท 10 เดือน เป็นเงิน10,000 บาท เป็นหนี้จำนวนแน่นอนแล้ว แม้ดอกเบี้ยที่ผู้ประมูลได้พึงจ่ายและจำเลยพึงรับมาจ่ายให้โจทก์นั้น จะถูกหักจากเงิน1,000 บาทนั้นให้โจทก์ไว้เลย ก็ย่อมแยกได้เป็นอีกจำนวนหนึ่ง

ผลที่สุด พิพากษายืน

Share