คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงอยู่ และกำลังจะนำมะม่วงที่เด็ดจากขั้วไว้แล้วออกไปนอกสวน ผู้เสียหายจึงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1เห็นได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ยังดำเนินอยู่ไม่ขาดตอน จำเลยที่ 2 ซึ่งในตอนแรกได้วิ่งหลบหนีไปสักครู่เดียวก็กลับมาพร้อมกับถือท่อนไม้ไผ่ตรงเข้าเงื้อจะตีทำร้ายผู้เสียหาย และในทันทีนั้นได้พูดขู่ผู้เสียหายว่า “วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย” ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2ได้พูดขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2065/2541 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83 ริบไม้ไผ่ของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 5 ปี ริบไม้ไผ่ของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3)(7)(12) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง)ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงของผู้เสียหายอยู่นั้น ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงได้ตรงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ได้จากนั้นได้ลากตัวจำเลยที่ 1 มายังที่ที่มีสายไฟฟ้าวางอยู่เพื่อจะใช้สายไฟฟ้ามัดตัวไว้ส่วนจำเลยที่ 2 ได้วิ่งหลบหนีไปได้ประมาณ 15 เมตรแล้ววิ่งกลับมายังที่ที่ผู้เสียหายกำลังจับตัวจำเลยที่ 1 ไว้ ในมือจำเลยที่ 2 ถือท่อนไม้ไผ่ยาว 175 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เงื้อจะตีผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า “วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย” เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงอยู่นั้นและกำลังจะนำมะม่วงที่เด็ดจากขั้วไว้แล้วนั้นออกไปนอกสวน ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ยังดำเนินอยู่ยังไม่ขาดตอน จำเลยที่ 2 ซึ่งในตอนแรกได้วิ่งหลบหนีไปสักครู่เดียวก็กลับมาพร้อมกับถือท่อนไม้ไผ่ตรงเข้าเงื้อจะตีทำร้ายผู้เสียหาย และในทันทีนั้นได้พูดขู่ผู้เสียหายขึ้นว่า “วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย” ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ได้บัญญัติถึงเจตนาของผู้กระทำไว้หลายประการด้วยกันที่จะถือว่าเป็นการชิงทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงแต่การใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไปหรือให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้นไม่ ยังมีเจตนาในประการอื่นอีก หาเป็นดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจละม้าย สกลพิทักษ์เกี่ยวกับขนาดของไม้ไผ่ท่อนที่ใช้เป็นอาวุธแตกต่างกันเป็นพยานที่เชื่อถือไม่ได้นั้น เห็นว่า คำเบิกความดังกล่าวเป็นเพียงการเบิกความถึงรายละเอียดเล็กน้อยเป็นพลความ หาใช่สาระสำคัญไม่

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คดีมีเหตุอันควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 2ในสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนดสิบปีอันเป็นอัตราโทษขั้นต่ำสุดแล้วจึงไม่อาจลดโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้อีก ส่วนปัญหาในเรื่องการรอการลงโทษนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองได้ลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ในชั้นที่สุดมีกำหนด 5 ปี เช่นนี้เป็นการลงโทษจำคุกเกินสองปีจึงไม่อาจรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แก่จำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share