คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่พิพาทกันในเขตปกครองท้องที่ ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่ดินที่พิพาทกัน ณ เขตรับผิดชอบอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหาย ไปร่วมรังวัดที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินไปร่วมรังวัดที่ดินด้วยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าว ในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
การที่ศาลชั้นต้นฟังว่า ผู้เสียหายไปทำการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานและจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายเพราะได้กระทำการตามหน้าที่พิพากษาลงโทษจำเลย เป็นการพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่มิได้ กล่าวในฟ้อง ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยโดยเห็นว่า การที่ผู้เสียหายไปรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งนั้น ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457มาตรา 10,27 และพิพากษายกฟ้องก็ไม่ถือว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายไปเป็นพยานในการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งเป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในฐานะเจ้าพนักงานนั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2541 นายไสว หาญสมุทรผู้เสียหาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแก้งอุดม หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริกจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่พิพาทกันในเขตปกครองท้องที่หมู่บ้านแก้งอุดมได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่ดินที่พิพาทกัน ณ เขตรับผิดชอบระหว่างนางถ่อน ละสิทธิ์ มารดาสามีของจำเลยกับนายสอนละสิทธิ์ และนายม้วน บุญกว้าง สามีและบิดาของจำเลยตามลำดับอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2541เวลากลางวัน จำเลยกล่าวดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวแล้วว่า “ผู้ใหญ่บ้านไม่ยุติธรรมผู้ใหญ่บ้านหมาพาชาวบ้านไปวัดเอาที่นาของพ่อข่อย” คำว่า “พ่อข่อย”หมายถึง “พ่อของจำเลย” เหตุเกิดที่ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริกจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมงภายในเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ในชั้นนี้ว่า นายไสว หาญสมุทร ผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแก้งอุดม ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เดิมนางถ่อน ละสิทธิ์ ได้ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ ให้แก่นายสอน ละสิทธิ์ ผู้เป็นบุตรและเป็นสามีจำเลย นายสอนได้นำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่นายม้วนบุญกว้าง บิดาของจำเลย นางถ่อนได้มาปรึกษาผู้เสียหายเพื่อจะให้กันส่วนที่ดินที่ยกให้แก่นายสอนออกจากที่ดินทั้งหมดจำนวน 60 ไร่ของนางถ่อน ต่อมาประมาณกลางเดือนเมษายน 2541 ผู้เสียหายกับนางถ่อนและพวกไปรังวัดที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินร่วมดำเนินการด้วย วันที่ 30 เมษายน 2541 เวลาประมาณ 8 นาฬิกาผู้เสียหายพบกับจำเลย จำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อผู้เสียหายว่าผู้ใหญ่บ้านไม่ยุติธรรม

ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายไปเป็นพยานคนกลางในการรังวัดที่ดินในคดีนี้ เป็นการกระทำในฐานะผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทระหว่างราษฎรในหมู่บ้านอันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครอง จึงเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่พิพาทกันในเขตปกครองท้องที่หมู่บ้านแก้งอุดม ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่ดินที่พิพาทกัน ณ เขตรับผิดชอบระหว่างนางถ่อนละสิทธิ์ นายสอน ละสิทธิ์ และนายม้วน บุญกว้าง อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า การที่ผู้เสียหายไปร่วมรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างนางถ่อน นายสอน และนายม้วน โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินไปร่วมรังวัดที่ดินด้วย เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าการที่ผู้เสียหายไปทำการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานและฟังว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายเพราะได้กระทำการตามหน้าที่พิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงส่วนที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยโดยเห็นว่าการที่ผู้เสียหายไปรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งนั้นไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 10, 27และพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ถือว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายไปเป็นพยานในการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งเป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในฐานะเจ้าพนักงานนั้นเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษายืน

Share