คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในครั้งแรกเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับรายรับในเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่าโจทก์ มีรายรับต้องเสียภาษีการค้าจำนวน 3,876,591.69 บาท และโจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 336,449.37 บาท ตามการประเมินแล้ว แต่รายรับตาม จำนวนที่ศาลภาษีอากรกลางและตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1768/2536 ให้หักออกจากการประเมินมีจำนวน 3,454,107.77 บาท โจทก์จึงมีรายรับที่จะต้องเสียภาษีการค้าอยู่อีกจำนวน 422,483.92 บาท ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางและ คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้พิพากษาให้นำรายรับ จำนวน 3,454,107.77 บาท มาหักออกจากยอดรายรับตาม การประเมินจำนวน 3,876,591.69 บาท เหลือรายรับเท่าใด แล้วจึงคำนวณภาษีการค้า หากมีภาษีการค้าที่จะต้องคืนแก่โจทก์ให้จำเลยคืนภาษีการค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปี แม้จะได้ความว่า ต่อมาโจทก์ได้ขอคืนเงินภาษีและจำเลย ได้คืนเงินที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้าเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้แก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยคืนภาษีการค้า เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ให้แก่โจทก์ไปเกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามคำพิพากษา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องเรียกเงินที่ชำระแก่โจทก์ เกินไปคืน การที่จำเลยกลับมาทำการประเมินและปรากฏว่า รายรับพิพาทจำนวน 422,483.92 บาท เป็นรายรับที่รวมอยู่ ในจำนวนเดียวกันกับรายรับจำนวน 3,876,591.69 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้เคยทำการประเมินแล้ว การที่ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีการค้าสำหรับรายรับพิพาท จำนวน 422,483.92 บาท จึงเป็นการประเมินซ้ำกับการประเมินครั้งแรก ทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเพียงภาษีการค้าที่ จำเลยคืนให้โจทก์เกินไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทำให้หนังสือแจ้งภาษีการค้าดังกล่าว เป็นหนังสือแจ้งการประเมินที่ออกโดยไม่มีอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบตามไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลย ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ ต.1037/4/103259 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเลขที่ สภ.3(อธ.2)/141/2540 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2540
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เลขที่ ต.1037/4/103259 ลงวันที่21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.3(อธ.2)/141/2540 ลงวันที่17 มิถุนายน 2540 เป็นให้โจทก์ชำระภาษีการค้าจำนวน12,674.52 บาท เบี้ยปรับจำนวน 12,674.52 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 และนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่เงินเพิ่มทั้งหมดที่คำนวณได้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ กับให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละสิบของภาษีการค้าโดยรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับรายรับเดือนธันวาคม 2529โดยอ้างว่า โจทก์มีรายรับต้องเสียภาษีการค้าจำนวน3,876,591.69 บาท คิดเป็นภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 และภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน290,395 บาท ตามภาพถ่ายหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 10 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 โจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 336,449.37 บาท ตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้างและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 ถึง 12 และได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 156/2533 คดีหมายเลขแดงที่ 251/2534 ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าดังกล่าวศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าว่าให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้ปรับปรุงยอดรายรับใหม่เป็นให้นำรายรับที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก้เฮ้าส์ซิ่ง จำกัดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิดแลนด์ จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ธนาคารสหธนาคาร จำกัด ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และบริษัทเวสต์เทิร์น จำกัด ในจำนวนตามคำวินิจฉัยหักจากยอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้า เมื่อคำนวณภาษีการค้าใหม่แล้วหากมีภาษีการค้าที่จะต้องคืนแก่โจทก์ให้จำเลยคืนภาษีการค้าพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 ถึง 57 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนในประเด็นนี้ตามคำพิพากษาที่ 1768/2536 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 58 ถึง 91 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายรับเพื่อเรียกภาษีการค้าต่ำไป 422,483.92 บาท และให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 41,825 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 27 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 23 ถึง 26 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์แถลงว่าหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาที่ 1768/2536 แล้ว โจทก์ได้ขอคืนเงินภาษีต่อกรมสรรพากรและได้รับเงินที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้าไว้คืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี รายรับที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าสำหรับเดือนธันวาคม 2529 นั้น เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ว่ามีจำนวน 3,876,591.69 บาท แต่ตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางและคำพิพากษาของศาลฎีกาให้หักรายรับต่าง ๆ ของโจทก์ออกจำนวน3,454,107.77 บาท ในเดือนธันวาคม 2529 โจทก์จึงยังมีรายรับที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าจำนวน 422,483.92 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในครั้งแรกเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับรายรับในเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่าโจทก์มีรายรับต้องเสียภาษีการค้าจำนวน 3,876,591.69 บาท ตามภาพถ่ายหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 และโจทก์ได้ชำระภาษีการค้าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 336,449.37 บาท ตามการประเมินแล้ว ตามภาพถ่ายแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง (แบบ ท.ป.3) และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 และ 12 ตามลำดับแต่รายรับตามจำนวนที่ศาลภาษีอากรกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 251/2534 และตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1768/2536 ให้หักออกจากการประเมินมีจำนวน 3,454,107.77 บาท โจทก์จึงมีรายรับที่จะต้องเสียภาษีการค้าอยู่อีกจำนวน 422,483.92 บาท ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางและคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้พิพากษาให้นำรายรับ จำนวน 3,454,107.77 บาท มาหักออกจากยอดรายรับตามการประเมินจำนวน 3,876,591.69 บาท เหลือรายรับเท่าใดแล้วจึงคำนวณภาษีการค้าหากมีภาษีการค้าที่จะต้องคืนแก่โจทก์ให้จำเลยคืนภาษีการค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แม้จะได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้ขอคืนเงินภาษีและจำเลยได้คืนเงินที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยคืนภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ไปเกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามคำพิพากษา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องเรียกเงินที่ชำระแก่โจทก์เกินไปคืน การที่จำเลยกลับมาทำการประเมินและปรากฏว่ารายรับพิพาทจำนวน 422,483.92 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้า เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 5 เป็นรายรับที่รวมอยู่ในจำนวนเดียวกันกับรายรับจำนวน 3,876,591.69 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้เคยทำการประเมินแล้ว ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีการค้าสำหรับรายรับพิพาทจำนวน 422,483.92 บาท จึงเป็นการประเมินซ้ำกับการประเมินครั้งแรก ทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเพียงภาษีการค้าที่จำเลยคืนให้โจทก์เกินไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทำให้หนังสือแจ้งภาษีการค้าดังกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการประเมินที่ออกโดยไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบตามไปด้วย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ ต.1037/4/103259 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.2)/141/2540 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2540

Share