คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาที่มิใช่เพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำการใด ๆต่อจำเลย หรือหนังสือพิมพ์รายวันของจำเลยก่อน เมื่อจำเลยเสนอข่าวยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมิใช่ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่จำเลยในฐานะประชาชนมีสิทธิทำได้ โดยต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่นด้วย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 พิมพ์และโฆษณาเผยแพร่ข้อความในหนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ออกและจำหน่ายเพื่อการค้า คือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 27 มีนาคม 2535เป็นหัวข่าวในหน้า 1 ว่า “เหตุเกิดเพราะโกใหญ่” ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อในหน้า 15 มีข้อความตอนหนึ่งว่า”นายณรงค์ วงศ์วรรณ มีชื่ออยู่ในแบงค์ลิศต์ของ ดีอีเอ”ฉบับประจำวันที่ 28-29 มีนาคม 2535 ได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวในหน้า 1 ว่า “นสพ.ต่างชาติตีแผ่ทั่ว ณรงค์-ผง-ทหาร”ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อในหน้า 15 มีข้อความตอนหนึ่งว่า”ข่าวนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยโดยพาดหัวข่าวว่า นักค้ายาเสพติดผู้โด่งดังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย” ฉบับประจำวันที่ 30 มีนาคม 2535ได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวในหน้า 1 ว่า “เชื่อไร้คำตอบจากสหรัฐอนันท์ยันไม่ก้าวก่าย” ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อในหน้า 15มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า “เผยอเมริกาแคลงใจหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมนายแล้ว เคยส่งทูตเจรจาลับรัฐบาลชาติชาย ยับยั้งนำเข้าร่วมรัฐบาล”และอีกตอนหนึ่งระบุว่า “แหล่งข่าวผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนายณรงค์พัวพันค้ายาเสพติดนั้น เป็นเรื่องที่สหรัฐปักใจเชื่อมานานแล้ว” ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2535 ได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวในหน้า 1 ว่า “บุญชนะติงนายกฯ ใหม่ อย่าทำการค้าตปท. พัง” ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อในหน้า 15มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ทางการสหรัฐฯ เริ่มติดตามพฤติการณ์ของนายณรงค์อย่างจริงจังหลังจากเขาพยายามเข้าไปช่วยเหลือจำเลยคดีค้ายาเสพติดคนหนึ่งที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตในประเทศไทย” ในหน้า 16 ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับดังกล่าวยังได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวว่า”โกใหญ่หนึ่งเส้นเชือกมัดคอฆ่าณรงค์ วงศ์วรรณ” ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในหมู่มือปราบยาเสพติดล้วนให้ข้อมูลตรงกันประการหนึ่งว่า เหตุที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อ “นายณรงค์” ไว้ในบัญชีดำนั้นเนื่องเพราะในบรรดาผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติในย่านภาคเหนือล้วนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับณรงค์ วงศ์วรรณ” และสรุปความในตอนท้ายว่า “นี่คือตัวอย่างหนึ่งในจำนวนคนที่แวดล้อมขายที่ถูกข้อกล่าวหาจากสหรัฐอเมริกาว่า พัวพันการค้ายาเสพติดที่ชื่อ ณรงค์ วงศ์วรรณ” ฉบับประจำวันที่ 4-5 เมษายน 2535ได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข่าวในหน้า 1 ว่า “ออสซึ่งดวีซ่าณรงค์เฉยจะเป็นนายกเส้นทางสวรรค์สู่เก้าอี้ผู้นำตึกไทยคู่ฟ้าของณรงค์ วงศ์วรรณ มีอุปสรรคอีกแล้ว รอยเตอร์พิมพ์ใหม่ออสเตรเลียไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศอีกแล้ว ข้อหาเดิมยาเสพติด” ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดของข่าวต่อในหน้า 11มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถ้าเขามาทำเรื่องขอวีซ่า เขาจะได้รับการปฏิเสธ” หนังสือพิมพ์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นหนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกและจำหน่ายให้แก่ประชาชนได้อ่านทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการร่วมกันกระทำหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยการโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์ ทำให้บุคคลที่สามและประชาขนทั่วไปที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ดังกล่าวย่อมประเมินเกียรติยศ คุณสมบัติ และการกระทำของโจทก์ว่าต่ำ เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ดูหมิ่น และขาดความเชื่อถือในตัวโจทก์ ทำให้ประชาชนผู้อ่านเข้าใจความหมายไปในทางที่ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีมีชื่ออยู่ในบัญชีเอกสารลับด้านยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา (บัญชีดำ) เป็นนักค้ายาเสพติดเฮโรอีนผู้โด่งดัง ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาสงสัยมานานแล้ว และสหรัฐอเมริกาเคยส่งทูตมาเจรจากับรัฐบาลในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ยับยั้งไม่ให้โจทก์เข้าร่วมรัฐบาลเพราะสหรัฐอเมริกาปักใจเชื่อว่าโจทก์ค้ายาเสพติดมานานแล้วและยังเข้าใจอีกว่าโจทก์มีพฤติการณ์พยายามช่วยเหลือจำเลยในคดียาเสพติดคนหนึ่งที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบรรดาผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติของภาคเหนือจนถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าพัวพันกับการค้ายาเสพติด และยังมีชื่ออยู่ในบัญชีเอกสารยาเสพติดของประเทศออสเตรเลีย (บัญชีดำ) จนประเทศออสเตรเลียไม่ยอมออกวีซ่าให้อีกประเทศหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้นทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 326, 328, 332 และพระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 กับสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันประกาศคำพิพากษาและคำขออภัยโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครทุกฉบับ ด้วยเนื้อที่ 1 ใน 2ของหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 48 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน ปรับกระทงละ 3,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 1 ปี 8เดือน ปรับ 15,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตนเป็นพลเมืองดี เห็นสมควรรอการลงโทษไว้กระทงละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้โฆษณาคำพิพากษานี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวัน 4 ฉบับ คือผู้จัดการรายวัน ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ด้วยเนื้อที่ 1 ใน 2ของหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับติดต่อกัน 5 วัน โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 เสนอข่าวเกี่ยวกับโจทก์โดยได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาได้ลงพิมพ์ข้อความเป็นข่าวพาดพิงถึงโจทก์รวมทั้งหมด 5 ฉบับใจความว่าโจทก์เป็นผู้ค้าเฮโรอีน และมีชื่อในบัญชีรายชื่อของหน่วยปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นนักค้ายาเสพติดผู้โด่งดัง ประเทศสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าโจทก์ค้ายาเสพติดมานานแล้วและเคยส่งทูตมาติดต่อกับรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อมิให้โจทก์ร่วมรัฐบาลโจทก์มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ค้ายาเสพติดซึ่งเป็นผู้ค้ายาเสพติดระดับข้ามชาติในภาคเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้ค้าเฮโรอีน และโจทก์เป็นผู้ค้ายาเสพติดและมีชื่อในบัญชีดำของผู้ค้ายาเสพติดของประเทศออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลียได้งดออกวีซ่าไม่ให้โจทก์เข้าประเทศตามเอกสารหมาย จ.2ถึง จ.6 ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในทำนองว่าโจทก์เกี่ยวพันการค้าเฮโรอีน และโจทก์ถูกระงับวีซ่าหรือห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียศาลฎีกาเห็นว่า การเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาดังกล่าว มิใช่เพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนแต่อย่างใด เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำการใด ๆ ต่อจำเลยที่ 1 หรือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 เสนอข่าวยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมิใช่ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่จำเลยที่ 1 ในฐานะประชาชนมีสิทธิทำได้ โดยต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่นด้วย แต่ข้อความที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเสนอข่าวนั้น เป็นการเสนอข่าวโดยมุ่งหวังเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งส่อแสดงเจตนาอันไม่สุจริตเนื่องจากได้เสนอข่าวติดต่อกันหลายวันหลายฉบับ จำเลยที่ 1จึงไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share