คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงไม่ประสงค์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนทนายจำเลยทั้งสามขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 แต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาทนายจำเลยกลับอุทธรณ์และฎีกาในฐานะทนายจำเลยทั้งสามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาตลอดจนศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยที่ 1กับยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2กับจำเลยที่ 3 แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย แต่เมื่อเป็นคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 ระหว่างจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามขอเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวภายใน7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า การซื้อขายที่ดิน ทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนไม่ทราบว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดปรากฏตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.210/2529 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงไม่ประสงค์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้ามาว่าคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนทนายจำเลยทั้งสามขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้แล้วทนายจำเลยดังกล่าวได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในฐานะทนายจำเลยทั้งสามศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ด้วยเป็นการไม่ชอบ ในชั้นฎีกาทนายจำเลยยื่นฎีกาในฐานะทนายจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบเช่นกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไประหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามเช็คจำนวน 500,000 บาท ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1431/2529 ของศาลชั้นต้น วันที่ 18 พฤศจิกายน2528 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นนายทหารอากาศและเป็นสามีจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นภรรยานายทหารอากาศและจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีบ้านพักอยู่ในบ้านพักของทางราชการด้วยกัน นางชฎาธาร จินดา พยานโจทก์เคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามเช็คต่อศาลชั้นต้นและจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีแทนในคดีที่นางชฎาธารฟ้อง มีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วยหรือไม่จำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ซื้อโดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นภรรยานายทหารอากาศและจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารอากาศมีบ้านพักอยู่ในบ้านพักของทางราชการก็จริง แต่ในปัญหาเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัวของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่น่าจะรู้ไปหมดทั้งสิ้นโดยเฉพาะเรื่องหนี้สิน จำเลยที่ 1 ที่ 2 คงไม่บอกให้ผู้อื่นได้รู้ความจริง แต่ในเรื่องทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ก็เบิกความยืนยันว่าทราบว่าจำเลยที่ 1 มีที่ดินอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และถือหุ้นอยู่ในบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเลคโทรนิค อินดัสทรี จำกัด จำนวน84,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยืนยันในข้อนี้ และข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เบิกความนายรัษฎา ญาณหารพยานโจทก์และเป็นทนายโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า โจทก์บอกพยานว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ซี.ไอ.ซี. อีเลคโทรนิคอินดัสทรี จำกัดจำนวน 84,000,000 บาท นางชฎาธาร จินดา พยานโจทก์อีกปากหนึ่ง เบิกความตอบคำถามค้านว่า พยานทราบว่าจำเลยที่ 1มีที่ดินอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประมาณ2-3 แปลง มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี และมีหุ้นอยู่ในบริษัทซี.ไอ.ซี อีเลคโทรนิค อินดัสทรี จำกัด ประมาณ 80,000,000 บาทดังนี้จำเลยที่ 3 ย่อมเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะร่ำรวยและมั่นคง เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่รู้ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทราคาไม่มากจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังขึ้นและแม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย แต่คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้ อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้จำเลยที่ 1ได้รับผลจากคำพิพากษานี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษากลับ ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share