คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 40,000 บาท สูงเกินไป ค่าเสียหายหากมีจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41
การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1” และ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2” นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น
ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1” และ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2” ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า “MAGIC ABACUS” เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือชื่อ “MAGIC ABACUS” นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 69, 70, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้หนังสือที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 4 เล่ม ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอุไรวรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 800,000 บาท ค่าสูญเสียประโยชน์ที่ควรได้จำนวน 500,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) ฐานทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ปรับ 20,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้หนังสือที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 4 เล่ม ของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อหาอื่นให้ยก กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพ และเครื่องหมายต่างๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ มิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ สำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1” และ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้นและเป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้นเป็นคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสมพร เด็กหญิงสุวธิดา นางสาวธัญนันท์ และเด็กหญิงณัฐชา เบิกความยืนยันในส่วนที่ตนเกี่ยวข้องว่า เมื่อเด็กหญิงสุวธิดาและเด็กหญิงณัฐชาสมัครเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาสมาร์ท พัทลุง สาขาอำเภอป่าพะยอม แล้วโรงเรียนดังกล่าวมอบหนังสือ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 2 และ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 1 และมอบหนังสือ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 2 และ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 1 ให้แก่เด็กหญิงณัฐชา เด็กหญิงสุวธิดาและเด็กหญิงณัฐชาใช้หนังสือดังกล่าวเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาสมาร์ท พัทลุง สาขาอำเภอป่าพะยอม กรณีไม่ปรากฏเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานดังกล่าวจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เชื่อว่าพยานดังกล่าวเบิกความไปตามความจริง และหนังสือมีลักษณะรูปเล่ม หน้าปก และรูปภาพภายในหนังสือส่วนมากเหมือนกับหนังสือ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 1 และ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 2 ส่วนที่แตกต่างรวมทั้งโจทย์แบบฝึกหัดน่าจะเกิดจากจำเลยที่ 1 ปรับปรุงขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพื่อให้ไม่ซ้ำกับหนังสือของโจทก์ร่วม ที่จำเลยที่ 1 เบิกความลอยๆ แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ใช้หนังสือที่โรงเรียนกวดวิชาสมาร์ท พัทลุง สาขาอำเภอป่าพะยอมของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ดูแลจัดทำหนังสือประกอบการเรียนการสอนของโรงเรียนกวดวิชาสมาร์ท พัทลุง มีการคัดลอกเนื้อหาในส่วนสาระสำคัญของหนังสือ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1” และ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2” ของโจทก์ร่วมไปทำซ้ำและดัดแปลงในหนังสือ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 1 และ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขคดีดำที่ ศปก. พ.2/2551 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำฟ้องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1” และ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2” ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า “MAGIC ABACUS” เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันสมควรรู้ว่าหนังสือชื่อ “MAGIC ABACUS” นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการโรงเรียนกวดวิชาสมาร์ท พัทลุง และจำเลยที่ 3 เป็นผู้สอน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 1 และ “MAGIC ABACUS” คอร์ส 1 เล่ม 2 โดยทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเสียหายเพียงใด เห็นว่า โจทก์ร่วมไม่ได้เบิกความถึงและไม่ได้นำพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบให้เห็นถึงความเสียหายที่โจทก์ร่วมขอให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 800,000 บาท ค่าสูญเสียประโยชน์ที่ควรได้จำนวน 500,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 30,000 บาท ตามคำร้องของโจทก์ร่วมที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ตามสภาพแห่งการกระทำความผิด ของกลางมีเพียงเล็กน้อยและไม่ได้วางจำหน่ายโดยตรง ทั้งไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ร่วมขาดรายได้ที่แท้จริงอย่างไร เมื่อพิจารณารายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้จากการเปิดโรงเรียนกวดวิชาที่เกิดเหตุแล้วใช้หนังสือตำราเรียนของกลางประกอบการเรียนการสอน โดยคิดค่าลงทะเบียนจากผู้เรียนเพียงรายละ 1,000 บาท ซึ่งไม่ทราบจำนวนนักเรียนที่แท้จริงที่ได้รับหนังสือตำราเรียนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไปใช้ จึงกำหนดค่าเสียหายโดยรวมจากหนังสือของกลางที่ทำซ้ำและดัดแปลงจากหนังสือของโจทก์ร่วมจำนวน 4 เล่ม เป็นเงินเล่มละ 10,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ส่วนค่าสูญเสียประโยชน์ที่ควรได้และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิไม่กำหนดให้นั้น นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่มีเหตุสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share