คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11195/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 7 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 ของกฎหมายเดิมบัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง คนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคนต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วยนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติประกอบการลงโทษบุคคลที่ร่วมสมคบกันกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งแล้ว มิใช่ฐานความผิดหรือบทกำหนดความผิดและกำหนดโทษในตัวเองที่จะใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดโดยตรง และการที่มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ลงโทษผู้ร่วมสมคบตามวรรคหนึ่งทุกคนตามฐานความผิดที่มีการกระทำลงอีกกระทงหนึ่งด้วย แสดงอยู่ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ลงโทษฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานที่ได้มีการกระทำลงแยกต่างหากจากกันเป็นคนละกระทงกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวกัน
ความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง เป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกันและมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวร่วมกันมาในข้อเดียว ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในทุกฐานความผิดดังกล่าวเพียงกรรมเดียว หาได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 จึงลงโทษจำเลยทั้งสามสำหรับความผิดในฟ้องข้อนี้ได้เพียงกรรมเดียว

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1984/2551 และ 1985/2551 แต่คดีสองสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282, 83, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 11 พะราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสี่, 83 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง, 11 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีซึ่งมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา พาไปหรือรับตัวหญิงเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นและเพื่อการอนาจารโดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี และฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวการค้าหญิงหรือเด็ก เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 25,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 2 ปี 15 เดือน และปรับ 62,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 ให้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 5 และมาตรา 7 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 คู่ความไม่ฎีกา คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุมซึ่งตามอุทธรณ์ของโจทก์โต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจัดให้นางสาวสอนกับพวกรวม 6 คน หญิงชาวลาวดังกล่าวซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พักอาศัยและค้าประเวณีที่ร้านคุณปู่ที่เกิดเหตุ โดยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่เห็นด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกข้อหากับมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วย ถือว่าโจทก์อุทธรณ์ในความผิดข้อหานี้ด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวและเห็นว่าความผิดดังกล่าวเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ยังคงฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกข้อหาตามฟ้อง ถือว่าโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในความผิดนี้แล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และพวกตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุมีผู้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานีทราบว่ามีผู้นำเด็กหญิงและหญิงชาวลาวมาบังคับค้าประเวณีที่ร้านอาหารชื่อ บ้านคุณปู่ ที่เกิดเหตุ ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา นางดุจฤดี นักสังคมสงเคราะห์ของสำนักงานดังกล่าว กับเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุดรธานีพร้อมด้วยเจ้าพนักงานตำรวจ ร่วมกันไปตรวจสอบที่บ้านเกิดเหตุ พบเด็กหญิงและหญิงชาวลาวซึ่งรับว่าพักอาศัยและค้าประเวณีอยู่ที่บ้านเกิดเหตุรวม 17 คน ในจำนวนนี้มีเด็กหญิงอายุต่ำกว่าสิบแปดปี 6 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่แยกไปคุมตัวไว้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี และมิได้ดำเนินคดีเพราะถือว่าเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก ซึ่งในจำนวนนี้มีนางสาวลาตีหรือน้อยหรือฟ้า อายุ 15 ปีเศษ นางสาวจิตหรือสั้นหรือเปิ้ล อายุ 17 ปี นางสาวสุพันษาหรือสุพรรษาหรือแมวหรือปุ้ย หรือคุณพิมพ์ดี อายุ 16 ปี และนางสาวแจสอนหรือสอนหรือแตง อายุ 17 ปี รวมอยู่ด้วย ส่วนอีก 11 คน ซึ่งมีอายุสิบแปดปีขึ้นไป เป็นผู้เข้าเมืองโดยมีหนังสือเดินทางเพียง 3 คน จึงส่งตัวกลับประเทศ ส่วนอีก 8 คน ที่ไม่มีหนังสือเดินทางและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ซึ่งในจำนวนนี้มีนางสาวบุญทันหรือต่อ อายุ 19 ปี และนางสาวสุลิตาหรือสุริต้า อายุ 19 ปี รวมอยู่ด้วย บ้านเกิดเหตุเป็นสถานการค้าประเวณี มีสภาพเป็นตึกสองชั้นหลังใหญ่ มีห้องพักหลายห้อง ใช้เป็นห้องพักอาศัยของหญิงขายบริการและเป็นห้องสำหรับให้ลูกค้าร่วมประเวณีกับหญิงขายบริการด้วย ชั้นล่างมีห้องอาหารสำหรับลูกค้านั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มกับหญิงขายบริการตลอดจนติดต่อดูตัวและเลือกหญิงที่จะให้บริการ โดยมีจำเลยที่ 3 นายยอหรือดำหรือป๋าดำ นายเสมียรหรือเหมียน จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1984/2551 ของศาลชั้นต้นและนายมนต์ชัยหรือเอก จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1985/2551 ของศาลชั้นต้นร่วมกันเป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการค้าประเวณี และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าบ้านเกิดเหตุกับเจ้าของบ้าน แต่ในวันเกิดเหตุมิได้จับกุมจำเลยทั้งสามกับพวก ภายหลังเมื่อปรากฏจากการสอบสวนเชื่อว่าจำเลยทั้งสามกับพวกอีก 3 คน เป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมหญิงที่ค้าประเวณีจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามกับพวกเป็นคดีนี้สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กับพวกดังกล่าว เป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีที่เกิดเหตุ ร่วมเป็นธุระจัดหา ชักพาและรับตัวเด็กหญิงและหญิงชาวลาวดังกล่าวให้เข้าพักอาศัยและค้าประเวณีที่บ้านเกิดเหตุหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตัวเด็กหญิงและหญิงชาวลาวพยานโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวชาวลาวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พักอาศัยและจัดให้เด็กหญิงและหญิงดังกล่าวกระทำการค้าประเวณีที่บ้านเกิดเหตุอันเป็นสถานการค้าประเวณี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง แม้ภายหลังการกระทำความผิด พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 จะถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แต่ความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงหรือเด็กตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ฯ ก็ยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการค้าหญิงและเด็กดังเช่นกฎหมายเดิม ทั้งกำหนดให้ระวางโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ซึ่งโทษกึ่งหนึ่งของความผิดตามมาตรา 9 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 สูงกว่า 5 ปี หรือปรับสูงกว่า 10,000 บาท อันเป็นโทษสูงสุดตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กฯ เห็นได้ว่า มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังการกระทำความผิด ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กฯอันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ส่วนที่มาตรา 7 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมบัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งคนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคนต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วยนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติประกอบการลงโทษบุคคลที่ร่วมสมคบกันกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งแล้ว บุคคลผู้นั้นมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันด้วยตนเอง แต่มีพวกของตนที่ร่วมสมคบคนหนึ่งลงมือกระทำความผิด กฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะในกรณีนี้ว่าให้ลงโทษผู้ที่มิได้ลงมือกระทำความผิดนั้นเสมือนเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดเองดุจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกัน โดยให้ลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำลงนั้น บทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง จึงมิใช่ฐานความผิดหรือบทกำหนดความผิดและกำหนดโทษในตัวเองที่จะใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้โดยตรง เป็นเพียงบทบัญญัติใช้อ้างเพื่อประกอบการลงโทษตามบทมาตราที่เป็นฐานความผิดและกำหนดโทษสำหรับความผิดที่มีการกระทำลงเท่านั้น ทั้งตามคำฟ้องโจทก์กล่าวว่า จำเลยทั้งสามกับพวกสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก และบรรยายฟ้องต่อมาว่าจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามที่สมคบด้วยกันทุกคนอยู่แล้ว จึงมิใช่การฟ้องขอให้ลงโทษผู้สมคบที่มิได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดด้วยตนเองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า บทมาตรา 7 วรรคสอง เป็นบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ และพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 7 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้องและการที่มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ลงโทษผู้ร่วมสมคบตามวรรคหนึ่งทุกคนตามฐานความผิดที่มีการกระทำลงอีกกระทงหนึ่งด้วย แสดงอยู่ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ลงโทษฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานที่ได้มีการกระทำลงแยกต่างหากจากกันเป็นคนละกระทงกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง เป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกันและมีองค์ประกอบความผิดที่ต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและคำขอท้ายฟ้องก็ระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วยก็ตาม แต่โจทก์ฟ้อง โดยบรรยายฟ้องข้อ 1 ก. ว่า จำเลยทั้งสามกับพวกบังอาจให้ความช่วยเหลือแก่หญิงและเด็กหญิงชาวลาวจำนวน 6 คน โดยจัดให้คนต่างด้าว ซ่อนเร้น พักอาศัยเพื่อให้พ้นจากการจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และบรรยายฟ้องข้อ 1 ข. ว่า จำเลยทั้งสามกับพวกได้บังอาจร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณี สถานการค้าประเวณีเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันเป็นธุระจัดหา รับตัว หรือชักพาไปซึ่งหญิงและเด็กหญิงชาวลาวรวม 6 คน ตามฟ้องข้อ 1 ก. เพื่อให้หญิงและเด็กหญิงดังกล่าวกระทำการค้าประเวณี ซึ่งลักษณะการบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ เมื่อพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องความผิดหลายกระทงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 160 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในทุกฐานความผิดตามฟ้องข้อ 1 ข. ดังกล่าวเพียงกรรมเดียว หาใช่มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เหมือนดังเช่นความผิดตามที่บรรยายไว้ในคำฟ้องข้อ 1 ก. ไม่ จึงลงโทษจำเลยทั้งสามสำหรับความผิดในฟ้องข้อนี้ได้เพียงกรรมเดียว และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นธุระจัดหา รับตัวหรือชักพาไป ซึ่งหญิงและเด็กหญิงชาวลาว ซึ่งมีอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี เพื่อให้หญิงและเด็กหญิงกระทำการค้าประเวณี อันเป็นการบรรยายตามองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสามเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไป เพื่อการอนาจาร หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสี่ รวมมาด้วย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษในฐานนี้เป็นมาตรา 282 วรรคสี่ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง, 11 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิงเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นโดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ฐานร่วมกันเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีโดยมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีอยู่ด้วย ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงกรรมเดียวตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 9 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันช่วยคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ส่วนโทษของจำเลยที่ 3 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share