คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18330/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
สิทธิบัตรของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณา โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรของโจทก์ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.82/2553 ให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์แล้วนั้น ไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระค่าสูญเสียโอกาสเป็นรายวัน วันละ 50,000 บาท นับถัดจากฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าระงับการกระทำอันเป็นการละเมิดและห้ามมิให้กระทำการละเมิดต่อไป ริบและทำลายบรรดาผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดและบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ละเมิด
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณา (Aquilaria) เลขที่ 18985 และแจ้งคำสั่งให้นายทะเบียนสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวออกจากสารบบของสำนักงานสิทธิบัตร ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 600,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระค่าเสียหายเสร็จ และค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะได้ปฏิบัติตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์รายวัน ที่แพร่หลายอย่างน้อยจำนวน 3 ฉบับ เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน ด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ และให้โจทก์ส่งสำเนาคำพิพากษาซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องไปยังลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่าขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 นายพีระพันธุ์ ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณา (Aquilaria) และได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ตามสำเนาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ต่อมานายพีระพันธุ์โอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ นายพีระพันธุ์ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ ยูเอส 7,485,309 บี 1 (US 7,485,309 B1) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ตามสำเนาสิทธิบัตร
พิเคราะห์แล้วที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของโจทก์ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับฟ้องแย้งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำสั่งรับฟ้องแย้งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ออกให้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สิทธิบัตรของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาหรือ Aquilaria resin โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณา (Aquilaria) เป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ แม้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชนิดและประเภทของกรรมวิธีการประดิษฐ์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือพืชที่อาจออกสิทธิบัตรให้ได้ไว้เป็นการเฉพาะ คงกล่าวถึงการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ไว้ในมาตรา 5 ว่า การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย 1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ 2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ 3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม โดยมาตรา 3 ระบุว่า การประดิษฐ์ หมายความว่า การคิดค้นหรือคิดทำขึ้น อันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรของโจทก์ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ เป็นกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาที่ประกอบด้วยขั้นตอนของการคัดเลือกต้นกฤษณาที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 9 ปี ที่มีขนาดของลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 35 ถึง 55 เซนติเมตร การทำให้เกิดรอยแผลบนลำต้น โดยเอาเปลือกนอกและเนื้อเยื่อออก มีลักษณะเฉพาะ คือ รอยแผลดังกล่าวเป็นรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมอย่างน้อยหนึ่งแห่งอยู่เหนือระดับพื้นดินระหว่าง 50 ถึง 70 เซนติเมตร และมีการเจาะรูผ่านเข้าไปถึงส่วนที่เป็นแก่นไม้อยู่ภายในกรอบรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวอย่างน้อยสองรู ซึ่งรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวจะวางแนวเป็นระเบียบตามแนวดิ่งของต้นกฤษณาอย่างน้อยหนึ่งแนว โดยแต่ละแนวที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของลำต้นจะวางแนวเหลื่อมกัน ซึ่งความสูงที่ดีที่สุดของแผลเหนือระดับพื้นดินเป็น 60 เซนติเมตร และรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมมีความกว้างระหว่าง 10 ถึง 15 เซนติเมตร ความยาวระหว่าง 20 ถึง 75 เซนติเมตร และความลึก 1 ถึง 3 เซนติเมตร ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น และยังประกอบด้วยขั้นตอนของการนำสารกระตุ้นเข้าสู่ลำต้นผ่านทางรูเจาะดังกล่าว เห็นได้ว่ารายละเอียดดังกล่าวล้วนเป็นขั้นตอนของวิธีการเพื่อจะกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างสาร Aquilaria resin วิธีการหนึ่ง แม้จะเป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอนแตกต่างจากวิธีการได้มาซึ่งสารกฤษณาตามที่ปรากฏในภูมิปัญญาของชาวบ้าน กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาที่ปรากฏตามข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์จึงเป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ให้แก่นายพีระพันธุ์ย่อมเป็นการออกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แม้จะได้ความจากนายพีระพันธุ์ว่ากรรมวิธีการกระตุ้นดังกล่าวนำไปใช้ได้ในเชิงการค้าและประสบผลสำเร็จตามสัญญาร่วมลงทุนก็ตาม แต่เมื่อกรรมวิธีในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงหาทำให้กรรมวิธีการกระตุ้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรของโจทก์กลับกลายเป็นกรรมวิธีการประดิษฐ์ที่อาจออกสิทธิบัตรให้ได้โดยชอบตามกฎหมายไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.82/2553 ให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์แล้วนั้น ไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share