คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21386/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนอาญา สำหรับคดีส่วนแพ่งเมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้เรียก ส. บุตรและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งตั้ง ส. เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 70, 148, 157
ระหว่างพิจารณา นางสวาท ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจตรีฉันท์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 4,062,853 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (ที่ถูก มาตรา 43 (4)), 70, 148 (ที่ถูก มาตรา 148 วรรคหนึ่ง), 157 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2,237,176 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,160,126 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางสาวสิริประภา บุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์และโจทก์ร่วมรับว่าเป็นความจริงและโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวสิริประภา เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะ ศาลฎีกา เห็นว่า สำหรับคดีส่วนอาญา เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนอาญาเสียจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวสิริประภา บุตรและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะศาลชั้นต้นยกคำร้อง เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวสิริประภา เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งตั้งนางสาวสิริประภา เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ผู้มรณะต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานหนักและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายสหัสวรรษ ประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุประกอบบันทึกถ้อยคำของนายสหัสวรรษตาม นายสหัสวรรษเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถสามล้อเครื่องรับจ้างหมายเลขทะเบียน สก – 7157 กรุงเทพมหานคร วิ่งมาตามซอย 3 เมื่อมาถึงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ชะลอความเร็วมองซ้ายมองขวาแล้ว จึงขับรถเข้าบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุได้มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ธย 7070 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับแล่นมาตามถนนซอย 7 ด้วยความเร็วมาถึงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุโดยไม่ชะลอความเร็วของรถลงเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับชนรถสามล้อเครื่องคันที่จำเลยที่ 1 ขับที่บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อนำคำเบิกความของนายสหัสวรรษดังกล่าวมาประกอบแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ร้อยตำรวจโทอนันต์ พนักงานสอบสวนทำขึ้นในวันเกิดเหตุ ปรากฏว่ามีกองเศษกระจกแตกอันถือว่าเป็นจุดชนตกอยู่เลยกึ่งกลางสี่แยกที่เกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถมาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุก่อนจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึง ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชะลอความเร็ว และมองซ้ายขวาดูรถก่อนขับเข้าสี่แยกที่เกิดเหตุ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการขับรถแล้ว อีกทั้งตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏรอยห้ามล้อรถของรถจำเลยที่ 2 ก่อนถึงสี่แยกที่เกิดเหตุไปจนถึงจุดชนแต่อย่างใด และสภาพด้านหน้ารถของจำเลยที่ 2 ที่เสียหายมากแสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถมาตามถนนซอย 7 เข้าสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วเนื่องจากขณะนั้น ซอย 7 เป็นถนนโล่ง หากจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังในการขับรถโดยชะลอความเร็วของรถลงก่อนถึงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถใกล้จะพ้นสี่แยกที่เกิดเหตุแล้ว ย่อมขับรถผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุไปได้ก่อน รถทั้งสองคันดังกล่าวก็จะไม่ชนกัน การที่รถทั้งสองคันชนกันจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนคดีส่วนแพ่ง เมื่อในคดีอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้คดีส่วนแพ่งจำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา แต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ดังนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนจำเลยที่ 1 ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,707,068.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 1 กับยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share