แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วยังต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ด้วย ช. พี่โจทก์เป็นผู้เริ่มคิดออกแบบ ส่วนรูปแบบโครงสร้างรูปแปดเหลี่ยมนั้นโจทก์กับ ช. ช่วยกันกำหนดโครงสร้างภาพจำลองเสาอากาศโจทก์กับ ช. ร่วมกันเขียนขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามและมีองค์ประกอบอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่าสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุได้หรือไม่และเป็นการยืนยันว่าโจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนดังกล่าว ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถร่วมกันกระทำในส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญในการออกแบบนั้นก็ได้ จึงฟังได้ว่า โจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามคำขอรับสิทธิบัตร จึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน แต่ ช. ไม่ยอมร่วมไปขอรับสิทธิบัตรกับโจทก์ด้วยเพราะไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการและติดต่อเจ้าหน้าที่ โจทก์ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมจึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองได้ตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 วรรคสอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 3821 และ 3819 และห้ามมิให้จำเลยและบริวารใช้สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 3821 และ 3819 รวมทั้งห้ามมิให้จำเลยและบริวารผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3821 และ 3819 หรือผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3774
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์เลขที่ 3774 และห้ามมิให้โจทก์และบริวารใช้สิทธิบัตรดังกล่าว รวมทั้งห้ามมิให้โจทก์และบริวารผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรนั้นหรือผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3821 และ 3819 กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยวันละ 2,000 บาท นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะปฏิบัติตามคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3821 และ 3819 ของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3821 และ 3819 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 โจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3774 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 ตามคำขอรับสิทธิบัตร โดยโจทก์ผลิตแผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามสิทธิบัตรของโจทก์ออกจำหน่ายตั้งแต่ปลายปี 2534 ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศโทรทัศน์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2535 และวันที่ 29 กันยายน 2535 รวม 2 คำขอ และจำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 เป็นสิทธิบัตรเลขที่ 3821 และ 3819 ตามคำขอรับสิทธิบัตร โดยรูปร่างของแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 3821 และ 3809 ของจำเลยตามวัตถุพยานเหมือนและคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 3774 ของโจทก์ตามวัตถุพยานที่มีอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรจนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตร ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ สิทธิบัตรของจำเลยจึงเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 57 (1) และเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า โจทก์กับนายชัยสิทธิ เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามคำขอรับสิทธิบัตรร่วมกันและโจทก์มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 หรือไม่ ทางนำสืบของจำเลยคงกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่านายชัยสิทธิ์เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรผู้เดียวตามคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์และโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1037/2538 ของศาลอาญาธนบุรีเท่านั้น แต่โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้ร่วมคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรกับนายชัยสิทธิ์ด้วย เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์และโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1037/2538 ของศาลอาญาธนบุรีแล้ว ได้ความตามคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์ว่า การคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น นายชัยสิทธิ์เป็นผู้คิดออกแบบผู้เดียว การคิดออกแบบนั้นต้องใช้ความรู้พิเศษและที่ต้องผ่านการทดลองว่าแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์ได้หรือไม่แล้วจึงนำไปผลิต แสดงให้เห็นว่าการทดลองแบบผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และโดยที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว ยังต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ด้วย การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องกระทำจึงมิได้มีเพียงแต่การคิดออกแบบใหม่เท่านั้น แต่ต้องออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรมด้วย การทดลองแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุว่าสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุได้หรือไม่ จึงเป็นการทดลองเพื่อดูว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้นายชัยสิทธิ์มิได้เบิกความยืนยันว่าการทดลองดังกล่าวนายชัยสิทธิ์กระทำแต่ผู้เดียวและโจทก์ได้เบิกความยืนยันไว้แล้วว่า นายชัยสิทธิ์พี่โจทก์เป็นผู้เริ่มคิดออกแบบ ส่วนรูปแบบโครงสร้างรูปแปดเหลี่ยมนั้นโจทก์กับนายชัยสิทธิ์ช่วยกันกำหนดโครงสร้าง ภาพจำลองเสาอากาศโจทก์กับนายชัยสิทธิ์ร่วมกันเขียนขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะสวยงามและมีองค์ประกอบ อันเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่าสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุได้หรือไม่และเป็นการยืนยันว่าโจทก์กับนายชัยสิทธิ์ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนดังกล่าว ซึ่งออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถร่วมกันกระทำในส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญในการออกแบบนั้นก็ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์กับนายชัยสิทธิ์ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามคำขอรับสิทธิบัตร จึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แต่นายชัยสิทธิ์เบิกความว่า ที่นายชัยสิทธิ์ไม่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเองก็เพราะไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการและติดต่อเจ้าหน้าที่ นายชัยสิทธิ์คิดว่าสิทธิบัตรที่โจทก์ได้รับเป็นสิทธิบัตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์พักอยู่ที่เดียวกับนายชัยสิทธิ์คือที่ร้านเอกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตแผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ การผลิตกระทำในลักษณะร่วมกันผลิต แสดงให้เห็นว่านายชัยสิทธิ์ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมตามคำขอรับสิทธิบัตรทราบดีถึงการไปขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ผู้เป็นน้องนายชัยสิทธิ์ แต่นายชัยสิทธิ์ไม่ยอมร่วมไปขอรับสิทธิบัตรกับโจทก์ด้วยเพราะไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการและติดต่อเจ้าหน้าที่ โจทก์ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมจึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองได้ ตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 วรรคสอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยสมบูรณ์ มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.