คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1583/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นซึ่งรวมใจความได้ว่า จำเลยได้ยกที่พิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทเพื่อตนตลอดมาเป็นเวลา 15-16 ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ดังนี้ แม้จะยอมฟังตามข้อฎีกาของจำเลยว่าการที่จำเลยยกที่พิพาทให้โจทก์ มิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ก็ยังได้สิทธิทางครอบครองมานานเกินกว่า 10 ปี เห็นได้ชัดว่าปัญหาข้อกฎหมายประการนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลย และไม่เป็นเหตุที่จะกระทำให้จำเลยกลับเป็นฝ่ายชนะคดีขึ้นมาได้ ศาลฎีกามีอำนาจไม่วินิจฉัยข้อกฎหมายนี้ได้.

ย่อยาว

เรื่อง ที่ดิน
โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่พิพาทเป็นของจำเลย ๆ ยกให้โจทก์และภรรยาโจทก์ โจทก์และภรรยาได้ครอบครองเป็นเจ้าของมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว บัดนี้จำเลยจะเอาที่พิพาทไปขายผู้อื่น จึงขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ๆ ได้ครอบครองตลอดมา ไม่เคยยกให้โจทก์
ศาลชั้นต้นเชื่อว่า จำเลยได้ยกที่พิพาทให้โจทก์และภรรยาโจทก์จริง และโจทก์ได้ครอบครองเพื่อตนมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ๔ ข้อ คือ
๑. จำเลยได้ยกที่พิพาทให้โจทก์แล้วจริงหรือไม่
๒. หากจะฟังว่าได้มีการยกให้กันจริง แต่มิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
๓. ใครเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท
๔. หากฟังว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทจริงแล้ว เป็นการครอบครองเพื่อตนหรือครอบครองแทนจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้พิพาทกันด้วยทรัพย์ราคา ๓,๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔๘ และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.แพ่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙ ม.๒๕
ฎีกาข้อ ๑-๓-๔ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาข้อ ๒ แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งรวมใจความว่าจำเลยได้ยกที่พิพาทให้แก่โจทก์และภรรยาโจทก์ และฝ่ายโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนตลอดมาเป็นเวลา ๑๕-๑๖ ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ดังนี้ แม้จะยอมรับฟังตามข้อฎีกาของจำเลยว่าการยกให้ในเบื้องต้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ก็ยังได้สิทธิทางครอบครองมานานเกินกว่า ๑๐ ปี เห็นได้ชัดว่าปัญหาข้อกฎหมายประการนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลย และไม่เป็นเหตุที่จะกระทำให้จำเลยกลับเป็นฝ่ายชนะคดีขึ้นมาได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๔๒(๑) และมาตรา ๒๔๗ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.แพ่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒-๒๔
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย

Share