แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 59, 80, 83, 90, 91, 288, 289, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 216/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสิบสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสาวกัญญ์วรา มารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของนายศุภกิตติ์ ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นอนุญาต นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาวกัญญ์วรายื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ชดใช้ค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลรวม 1,000,000 บาท ต่อมาขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 148,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ต่อมาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 148,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำร้องฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การในส่วนแพ่งทำนองเดียวกันว่า มิได้ทำละเมิดต่อผู้ร้อง ไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ให้การในส่วนแพ่งว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 358, 371 (เดิม) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 มีอายุระหว่าง 15 ปีเศษ ถึง 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 16 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 16 ปี 20 เดือน คำให้การของจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 9 เดือน 10 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี นับแต่วันพิพากษา โดยให้หักวันควบคุมให้ หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 อายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลา ให้ส่งไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ส่วนจำเลยที่ 13 ปัจจุบันอายุ 18 ปีเศษ และถูกพิพากษาจำคุกในคดีอื่น ดังนั้น การเปลี่ยนโทษและการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จึงไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 13 ให้นับระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากระยะเวลาฝึกอบรมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 57/2558 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 11 และที่ 12 คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 118,000 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ส่วนจำเลยอื่นให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 358 ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส มีผู้ได้รับอันตรายแก่กาย และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 คนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 12 เดือน โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดระยะเวลาดังกล่าว โดยกำหนดให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งในปีแรก 4 เดือนต่อครั้ง ในปีที่ 2 และ 6 เดือนต่อครั้ง ในปีที่ 3 กำหนดเงื่อนไขสำคัญคือให้เรียนให้จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงตามที่กำลังศึกษาอยู่ขณะกระทำความผิดและขณะที่อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ทุกครั้งที่มารายงานตัวให้นำหลักฐานการเรียนหรือหลักฐานการประกอบอาชีพที่เป็นกิจจะลักษณะมาแสดงต่อพนักงานคุมประพฤติ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 และผู้ปกครองเข้ารับการอบรมทักษะการอมรมดูแลบุตรวัยรุ่น ให้พนักงานคุมประพฤติจัดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 ไปรับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเชิงบวก ทักษะการใช้ชีวิตและสังคมและรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบ ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในเรื่องที่เป็นผลต่อเนื่องจากกรณีนักศึกษาต่างสถาบันตีกันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 เห็นสมควร ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติโดยเคร่งครัด และให้พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นทราบความคืบหน้าการปฏิบัติตามเงื่อนไขเป็นระยะ หากครบกำหนด 3 ปีที่รอการลงโทษแต่จำเลยคนใดยังเรียนไม่จบการศึกษาตามเงื่อนไข ให้พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ยกฟ้องความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนและยกคำขอให้นับระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอื่น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ขณะที่จำเลยที่ 4 กับพวกซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์รอรถยนต์โดยสารอยู่ที่ศาลาพักผู้โดยสารใกล้สัญญาณไฟจราจรสามแยกบางปะกงนอก นายสมชาย ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10 – 3716 ชลบุรี มาถึงศาลาพักผู้โดยสารมีผู้โดยสารคือนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกประมาณ 20 คน กับนักศึกษาโรงเรียนสุขบทและประชาชนทั่วไปรวมประมาณ 50 คน ทั้งยืนและนั่งเต็มคันรถได้ชะลอรถเพื่อจอดก็มีจำเลยที่ 4 กับพวกกรูกันไปที่รถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 4 ได้ชกนายเจษฎางค์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกซึ่งยืนอยู่บนรถยนต์โดยสารแล้วจำเลยที่ 4 จะขึ้นไปบนรถก็ถูกนายเจษฎางค์ถีบจำเลยที่ 4 ไม่ให้ขึ้นรถ นายสมชายจึงขับรถยนต์โดยสารออกไปโดยไม่จอด นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์จึงขับรถจักรยานยนต์ตามไปประมาณ 10 กว่าคัน เมื่อรถยนต์โดยสารวิ่งไปถึงวัดใหม่สงเคราะห์ราษฎร์หรือวัดผีขุด มีกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ขับรถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้าย 2 ถึง 3 คน ตามมาสมทบอีกประมาณ 5 ถึง 6 คัน และก่อนที่รถยนต์โดยสารจะวิ่งไปถึงฝั่งตรงข้ามป้อมตำรวจ นายสุรศักดิ์ ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ประกบด้านข้างได้โยนไม้ใส่ใต้ท้องรถยนต์โดยสารถูกหม้อน้ำแตกกับใช้มีดดาบฟันกระจกด้านข้างคนขับแตกและใช้มีดฟันยางรถยนต์จนยางแตก และมีคนร้ายที่ไม่ได้แต่งกายนักศึกษาสวมหมวกนิรภัยซึ่งซ้อนรถจักรยานยนต์ได้ชูอาวุธปืนและมีเสียงปืนดัง 1 นัด กระสุนปืนถูกกระจกรถยนต์โดยสารทางด้านหลังแตกแต่ไม่ทะลุตามผลการตรวจวิถีกระสุน รถยนต์โดยสารวิ่งไปเครื่องดับและหยุดอยู่ตรงข้ามป้อมยามตำรวจ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์เข้าไปทำร้ายผู้โดยสารและทำลายรถยนต์โดยสาร เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ป้อมตำรวจเข้ามาห้ามนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์จึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ระหว่างทางที่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ขับรถจักรยานยนต์มานั้นได้ใช้ก้อนหินและสิ่งของขว้างใส่รถยนต์โดยสารเป็นระยะ ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บที่หน้าผากขวาบนขนาด 10 เซนติเมตร เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบเลือดออกชั้นเยื่อหุ้มสมองใต้สมอง และมีกระโหลกแตก ต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่คิ้วด้านซ้ายเป็นแผลเย็บ 4 เข็ม ผู้ร้องได้รับค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์ 88,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ 30,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 11 และที่ 12 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 11 และที่ 12 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และในส่วนคดีแพ่งสำหรับจำเลยที่ 13 ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องและจำเลยที่ 13 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 13 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่าต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 คงมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 13 ว่ากระทำความผิดฐานร่วมพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงไม่ใช่จำเลยที่ 13 และจำเลยที่ 13 ไม่ได้ร่วมมีและพาอาวุธปืน เหตุคดีนี้เกิดขึ้นกะทันหันไม่มีการคบคิดมาก่อนดังที่วินิจฉัยมาในปัญหาประการแรก โดยต่างคนต่างขับขี่รถจักรยานยนต์ไล่ตามรถยนต์โดยสารและใช้ก้อนหินขว้างใส่รถยนต์โดยสารเป็นระยะจนกระจกรถยนต์โดยสารแตก ก้อนหินไปถูกผู้โดยสาร โจทก์คงมีนางสมคิด พนักงานเก็บค่าโดยสารเพียงปากเดียวที่เห็นจำเลยที่ 13 ใช้ก้อนหินขว้างใส่รถยนต์โดยสารตอนที่รถยนต์โดยสารเครื่องดับ แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าก้อนหินที่จำเลยที่ 13 ขว้างนั้นมีขนาดเท่าใดและทะลุเข้าไปในรถโดยสารหรือไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 13 จึงไม่ใช่การไตร่ตรองไว้ก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 13 มีเจตนาฆ่าดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้เหตุผลโดยละเอียดชัดแจ้ง นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 13 กระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในปัญหาประการที่สองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 13 ประการที่สองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน