แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยชอบดุด่า ชอบเสพสุรา เคยฟันโจทก์ 2 ครั้งที่แขนซ้ายและมือซ้าย เคยเอากาแฟร้อนสาดหน้าและต่อยโจทก์ และโจทก์ก็เคยฟันจำเลยถึงกระดูกนิ้วขาด แม้จะนับได้ว่าเป็นเรื่องรุนแรงอยู่มากแต่ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากการที่ได้เป็นสามีภริยากันมารวม 2 ระยะ เป็นเวลาประมาณ 7 – 8 ปี แล้ว ถือว่าไม่มีลักษณะจะเป็นเหตุที่โจทก์จะขอให้ตนแยกอยู่ต่างหากจากจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1455.
หมายเหตุ เหตุตามที่ฟ้องนี้อาจฟ้องขอหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500(2) แต่ขาดอายุความแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน จำเลยได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยเสพสุราเมาเป็นอาจิณ และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรง ด่าว่าโจทก์อย่างหยาบช้าสามานย์ และใช้กำลังทำร้ายร่ายกายอย่างทารุณ ถ้าอยู่ร่วมกันต่อไปจะเป็นอันตรายแก่อนามัย และทำลายความผาสุกอย่างมากของโจทก์ โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติและไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ขอให้ศาลสั่งให้โจทก์แยกกันอยู่กินกับจำเลยและให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู
จำเลยให้การว่า จำเลยได้อุปการะเลี้ยงโจทก์อย่างดีที่สุด แต่โจทก์ประพฤติตัวชั่วช้าสามานย์ ลักลอบเล่นการพนันผลาญทรัพย์เป็นอาจิณถูกตำรวจจับเรื่องเล่นการพนันส่งฟ้องศาลได้รับโทษถึง ๒ ครั้ง เอาค่าใช้จ่ายประจำเดือน หลอกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ และค่าเช่าจากผู้เช่าเอาไปเล่นการพนัน เป็นเจ้ามือเถื่อนสลากกินรวบ และลักเอาเครื่องทองรูปพรรณสินเดิมของจำเลยไปจำนำ โจทก์ทิ้งร้างจำเลยไปด้วยความสมัครใจของโจทก์เอง จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์อยู่ต่างหากกับจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุต่าง ๆ ดังที่โจทก์ยกขึ้นอ้างและเบิกความถึง จะเกิดขึ้นเสมอ ๆ จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นปกติหรือไม่ ไม่ปรากฏ ถ้าหากเป็นแต่เพียงเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว จากการที่ได้เป็นสามีภริยากันมารวม ๒ ระยะ เป็นเวลาประมาณ ๗-๘ ปีแล้ว ก็น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องถึงกับจะเป็นเหตุให้แยกกันอยู่ได้ แม้จะปรากฏว่าจำเลยได้ฟันโจทก์ ๒ ครั้งที่แขนซ้ายและมือซ้าย กับเอากาแฟร้อนสาดหน้าและต่อยโจทก์ก็ดี แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ก็ฟันจำเลยถึงกระดูกนิ้วขาด และเหตุดังกล่าวนี้แม้จะนับได้ว่าเป็นเรื่องรุนแรงอยู่มากก็ดี ก็ไม่มีลักษณะจะเป็นเหตุที่โจทก์จะขอให้ตนแยกอยู่ต่างหากจากจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๕ นั้นได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์.