แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม นั้น เมื่อจำเลยมีเจตนาและได้พรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว จึงมิใช่เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานหน่วยเหนี่ยวกักขัง
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นและข่มขืนกระทำชำเรา นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยพรากนางสาวสีแพร น้อมกระโทก ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ไปเสียจากนางสำลี สากกระโทก ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย เพื่อการอนาจาร จำเลยได้ข่มขืนใจ โดยฉุดกระชากลากผู้เสียหายที่ 2 ไปที่กระท่อมร้าง และได้พูดข่มขู่ว่าหากขัดขืนจะบีบคอให้ตาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย จนต้องจำยอมกระทำตามจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายและเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 309, 310, 318
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ไม่เกินสิบแปดปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครองดูแล โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย เพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปจากผู้เสียหายที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย เพื่อการอนาจาร จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ฉุดกระชากลากเข้าไปในกระท่อมร้าง โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย จนผู้เสียหายที่ 2 ต้องจำยอมกระทำตาม จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่าความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม นั้น เมื่อจำเลยมีเจตนาและได้พรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดหน่วงเหนี่ยวกักขัง ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง กับความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และข่มขืนกระทำชำเรา นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท นอกจากนี้ ศาลล่างทั้งสองมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและปรับบทลงโทษจำเลยโดยไม่ระบุเป็นความผิดตามวรรคใดในมาตราที่ลงโทษ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 309 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 318 วรรคสาม ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากบิดา มารดา ผู้ปกครองดูแลโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ให้ลงโทษปรับ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับ 16,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และคุมความประพฤติไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.