คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้รถแบ๊กโฮขุดตักดินในที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นการทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทรายในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามในราชกิจจานุเบกษา ต่อมาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประธาน สภาตำบลได้จัดทำบันทึกการประชุมสภาตำบลอันเป็นเท็จว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการขุด ตักดินได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 มิใช่เป็นการเตรียมทำเอกสารไว้ก่อนมีการขุดตักดินในที่สาธารณประโยชน์หรือ นำไปใช้อ้างอิงในการขุดตักดินดังกล่าว อันจะเป็นการแสดงเจตนาในการมีส่วนร่วมเข้าไปขุดตักดินในที่ สาธารณประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 3 ไม่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2) ประกอบมาตรา 108 ทวิ

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2343/2543 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยทั้งสามในสำนวนคดีนี้เช่นเดิม และให้เรียกจำเลยที่ 1 (เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในสำนวนนี้) และจำเลยที่ 2 ในสำนวนดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความผิดต่อ ป. ที่ดิน และคดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 เฉพาะคดีนี้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดต่อ ป. ที่ดินด้วยหรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ป.อ. มาตรา 83
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2), 108 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83 จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4), 83 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานทำลายและทำให้เสื่อมสภาพซึ่งที่ดิน สาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี ฐานรับรองเอกสารเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2), 108 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเฉพาะคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีชาวบ้านมาร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายว่า มีผู้ลักลอบขุดดินในป่าช้าบ้านว่าน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จึงสั่งการให้นายอำเภอท่าบ่อตรวจสอบข้อเท็จจริง นายอำเภอท่าบ่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า สภาตำบล บ้านว่านซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานสภาตำบลโดยตำแหน่งได้มีการประชุมครั้งที่ 10/2538 และมีข้อความใน สมุดบันทึกการประชุมว่า ให้ขุดสระน้ำขนาดกว้าง 100 เมตร ยาว 120 เมตร ลึก 3 เมตร ในบริเวณที่ป่าช้าดังกล่าว โดยขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทางจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงให้นายอำเภอท่าบ่อดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกเข้าไปขุดดินที่เกิดเหตุ นายอำเภอท่าบ่อมอบอำนาจให้นายสิทธิพร ปลัดอำเภอท่าบ่อร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกเข้าไปขุดตักดิน หิน กรวด และทรายในที่ดินดังกล่าว ตาม ป. ที่ดิน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2) ประกอบมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่ายกฟ้องจำเลยที่ 3 คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำบันทึกการประชุมสภาตำบลบ้านว่าน ครั้งที่ 10/2538 มีข้อความว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะประธานสภาตำบลบ้านว่านแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าเห็นควรขุดสระบริเวณที่ดินสาธารณะประโยชน์ข้างโรงเรียนบ้านว่าน ทางทิศเหนือ โดยจะขอเครื่องจักรกลจากจำเลยที่ 1 สมาชิกสภาจังหวัด รับปากจะมาทำการขุดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จึงขอให้ที่ประชุมได้พิจารณาว่าจะเห็นชอบให้ดำเนินการขุดหรือไม่ ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ดำเนินการขุดสระได้ ซึ่งเป็นความเท็จ จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1916/2540 หมายเลขแดงที่ 2343/2543 ของศาลชั้นต้น และได้นำมาพิจารณารวมกับคดีนี้ แต่คดีในส่วนดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นำคดีมาพิจารณาและพิพากษารวมกัน แต่ก็เป็นการกระทำคนละกรรมแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2) ประกอบมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง หรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของมาตรา 9 (2) ซึ่งองค์ประกอบของมาตรา 9 (2) ต้องประอบด้วยการลงมือกระทำด้วยประการใด ๆ โดยตรง และโดยเจตนาให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่ดิน ที่กรวด หรือที่ทราบในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศ หวงห้ามในราชกิจจานุเบกษาซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ป่าช้าบ้านว่านซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิ ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขุดดินดังกล่าว ทั้งการขุดดินในป่าช้าบ้านว่านเริ่มกระทำตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำบันทึกการประชุมสภาตำบลบ้านว่านครั้งที่ 10/2538 อันเป็นความเท็จ และเป็นการกระทำต่างกรรมกันดังกล่าวมาแล้ว จึงมิใช่เป็นการเตรียมทำเอกสารไว้ก่อนมีการขุดดินในป่าช้าบ้านว่าน หรือนำไปใช้อ้างอิงในการขุดดินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 อันจะเป็นการแสดงเจตนาในการมีส่วนร่วมเข้าไปขุดดินในที่สาธารณประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9 (2) ประกอบมาตรา 108 ทวิ
พิพากษายืน.

Share