คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อผู้ร้องฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองจนศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ส่วนที่ว่าในขณะที่ผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดี ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 22 นั้น แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีจนล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ สิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นหนี้ประธานนั้นเป็นอันสิ้นไป แต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ในหนี้จำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี เช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องในจำนวนดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 95

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 และมาตรา 22 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 9229/2538 แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของผู้ร้องพ้นกำหนดระยะเวลาในการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจดำเนินการให้ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองและนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องได้นำหนี้กู้ยืมและจำนองดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองจนศาลได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 9229/2538 แล้ว ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 9229/2538 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองวันที่ 7 มิถุนายน 2549 พ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาแล้ว ส่วนที่ว่าในขณะที่ผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดี ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 นั้น แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีจนล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นหนี้ประธานนั้นจะเป็นอันสิ้นไป แต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ในหนี้จำนองเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี เช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องในจำนวนดังกล่าวได้”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องไม่เกินหนี้จำนองจำนวน 2,000,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share