คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประทานบัตรที่โจทก์มีอยู่เดิมนั้นออกโดยพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461 ซึ่งมาตรา 51 บัญญัติว่าประทานบัตรทำเหมืองแร่ไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ถือประทานบัตรหวงห้าม หรือถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินในเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่นั้นเลยคงเพียงให้ขุดล้างแร่ได้เท่านั้นแม้โจทก์จะเคยได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในเขตที่ดินอันรวมถึงที่พิพาทด้วยแต่โจทก์ยื่นคำขอต่ออายุเกินกำหนดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีจึงสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ และแนะนำให้โจทก์ยื่นขอประทานบัตรใหม่ การขอประทานบัตรใหม่โดยยังมิได้รับประทานบัตรนั้น โจทก์ยังไม่มีสิทธิใดๆ ในที่พิพาทเท่ากับโจทก์ยื่นเรื่องราวขออนุญาตทำเหมืองแร่ใหม่เหมือนบุคคลทั่วๆ ไปเมื่อได้ความว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยได้มาโดยการจับจองเมื่อ พ.ศ.2492 ได้รับใบเหยียบย่ำเมื่อ พ.ศ.2493 จำเลยได้แจ้งการครอบครองและทางการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว จำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาทุกปีปลูกข้าว มันสำปะหลังและยางพารา กรีดน้ำยางได้มา 10 ปีเศษแล้วดังนี้จำเลยย่อมมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ และย่อมมีสิทธิคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่ว่าประทานบัตรที่โจทก์ขอใหม่นั้นทับที่ของจำเลยซึ่งครอบครองและมี น.ส.3 แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยและขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านนั้น(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1889/2514 และที่ 1890/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินเหมืองแร่ 2 แปลงตามแผนที่ท้ายฟ้องเดิมเป็นป่าไม่มีผู้ใดถือกรรมสิทธิ์หรือทำประโยชน์ เมื่อ พ.ศ. 2475 นายลิ่ม บุนสุน ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่ดินนี้ เมื่อ พ.ศ. 2494 นายอุทิศ ประเสริฐศิริรับโอนประทานบัตรนี้ต่อมา ซึ่งประทานบัตรนี้สิ้นอายุเมื่อ พ.ศ. 2500 โจทก์ได้รับโอนประทานบัตรเหมืองแร่นี้คือประทานบัตรที่ 5310/7893 และ 5311/7879 ต่อมา และจะสิ้นอายุในเดือนมีนาคม 2514 ครั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอต่ออายุประทานบัตรทั้งสองนี้ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีได้ออกไปตรวจรังวัดตามแผนที่ประทานบัตรเดิม จำเลยร้องคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่ว่าประทานบัตรของโจทก์ทับที่ของจำเลยซึ่งครอบครองและมี น.ส.3 แล้ว เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจออกประทานบัตรต่ออายุให้แก่โจทก์ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินตามประทานบัตรทั้งสองนี้ และให้จำเลยรื้อถอนที่พักคนงานออกไป ให้จำเลยถอนคำคัดค้านที่ยื่นไว้ต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชหากจำเลยไม่ถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาทให้โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทหมายเลข 2 เป็นของจำเลย โดยการจับจองและได้รับใบเหยียบย่ำแล้วยึดถือครอบครองตลอดมาโดยโก่นถางปลูกยางพารากับได้แจ้งการครอบครองและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ส่วนที่พิพาทหมายเลข 1 จำเลยไม่ขอเกี่ยวข้อง ประทานบัตรของนายลิ่ม บุนสุน ได้สิ้นอายุใน พ.ศ. 2500 เพราะครบกำหนด 25 ปี ไม่อาจต่ออายุและไม่อาจโอนมายังโจทก์ได้ จำเลยไม่ได้ขัดขวางการทำเหมืองแร่ของโจทก์ โจทก์ขอต่ออายุประทานบัตรเกินกำหนดในกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยครอบครองที่พิพาทก่อนฟ้องกว่า 1 ปี และ 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทหมายเลข 2 ให้จำเลยถอนคำคัดค้านที่ยื่นไว้ต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช หากจำเลยไม่ยอมถอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา คดีคงมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับที่พิพาทหมายเลข 2หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามประทานบัตรของโจทก์ เลขที่ 5310/7893 มีอายุ 10 ปี จะสิ้นอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2514ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่าที่ดินที่โจทก์ร้องขอประทานบัตรนี้มีเนื้อที่ดิน 289 ไร่3 งาน 79 ตารางวา ในจำนวนนี้มีที่พิพาทหมายเลข 2 เนื้อที่ 5 ไร่เศษด้วย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 โจทก์ได้ขอต่ออายุประทานบัตร แต่ต่อเกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณี จึงให้ยื่นคำขอใหม่เหมือนผู้ที่ยังไม่เคยได้รับประทานบัตรเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1 อันดับ 107 โจทก์จึงปฏิบัติตามโดยยื่นแผนที่มีจำนวนเนื้อที่ดินและอาณาเขตเหมือนประทานบัตรเดิม ได้มีการรังวัดและประกาศ จำเลยจึงมาคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งจำเลยได้จับจองรับใบเหยียบย่ำโก่นถางปลูกยางพาราแจ้งการครอบครองและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีขัดข้องไม่อาจออกประทานบัตรให้ได้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าประทานบัตรที่โจทก์มีอยู่เดิมนั้นเป็นการออกโดยพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 ซึ่งมาตรา 51 บัญญัติว่า ประทานบัตรทำเหมืองแร่ไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ถือประทานบัตรหวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินในเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่นั้นเลย คงเพียงให้ขุดล้างแร่ได้เท่านั้น แม้โจทก์จะเคยได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในเขตที่ดินรวมถึงที่พิพาทด้วยก็ดีแต่โจทก์ยื่นคำขอต่ออายุเกินกำหนดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีจึงสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ และแนะนำให้โจทก์ยื่นขอประทานบัตรใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการขอประทานบัตรใหม่ โดยยังมิได้รับประทานบัตรนั้น โจทก์ยังไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท การกระทำของโจทก์เท่ากับโจทก์ยื่นเรื่องราวขออนุญาตทำเหมืองแร่ใหม่เหมือนบุคคลทั่ว ๆ ไป สำหรับที่พิพาทนั้นข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยแปลงใหญ่ จำเลยได้มาโดยการจับจองเมื่อ พ.ศ. 2492 และได้รับใบเหยียบย่ำเมื่อ พ.ศ. 2493จำเลยได้แจ้งการครอบครองไว้ และทางการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว จำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาทุกปี เดิมเป็นป่าทึบ จำเลยได้แผ้วถางแล้วปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารากรีดน้ำยางได้มา 10 ปีเศษแล้ว จำเลยครอบครองมาโดยโจทก์และผู้แทนโจทก์มิได้เข้าเกี่ยวข้อง ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมีสิทธิในที่พิพาทโดยโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทหมายเลข 2 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1889/2514,1890/2514

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในคำขอที่ห้ามไม่ให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินตามประทานบัตรที่ 5310/7893 และในคำขอที่ให้จำเลยถอนคำคัดค้านที่ยื่นไว้ต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share