คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ โดยจำเลยยินยอมอนุญาตให้ ณ บุตรจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้กู้แทนจำเลยดังนี้หาผูกพันจำเลยไม่ และกรณีเช่นนี้หาใช่กรณีที่จำเลยเชิดให้ ณ.เป็นตัวแทนกู้เงินโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 11,800 บาท โดยทำหนังสือสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยยินยอมอนุญาตให้นายณรงค์เป็นผู้ลงชื่อของจำเลยแทนจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และไม่ได้ยินยอมอนุญาตให้นายณรงค์เป็นผู้ลงชื่อของจำเลยแทนจำเลย สัญญากู้ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 11,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงิน โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 นายณรงค์บุตรจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้กู้แทนจำเลย เมื่อจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในเอกสารหมาย จ.1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 โจทก์จะนำเอกสารดังกล่าวมาฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น” ดังนี้ การที่จำเลยกู้เงินโจทก์โดยจำเลยยินยอมอนุญาตให้นายณรงค์บุตรจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้แทนจำเลยจึงหาผูกพันจำเลยไม่ และกรณีเช่นนี้หาใช่กรณีที่จำเลยเชิดให้นายณรงค์เป็นตัวแทนกู้เงินโจทก์ไม่

พิพากษายืน

Share