แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้นำวิดีโอเทปเรื่อง “เดอะ กริฟเตอร์ส” ออกขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ในลักษณะเพื่อการค้าโดยรู้ว่างานหรือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในวิดีโอเทปนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง แต่ความผิดในข้อหานี้กับในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุม กิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 ซึ่งเป็นอันยุติไปแล้วนั้น ตามฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาใน วันเวลาเดียวกัน และการกระทำของจำเลยก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน กล่าวคือ การขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่าอย่างเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งต้องพิจารณาจากอัตราโทษจำคุก คือ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 ซึ่งมีโทษหนักกว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4, 13, 24, 27, 42, 43, 44, 47, 49 พ.ร.ฎ. กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4 พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและ วัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4, 6, 34 ป.อ. มาตรา 33, 91 และให้จ่ายค่าปรับตามฟ้อง กึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และให้วิดีโอเทปของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ให้การรับสารภาพว่าได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน จำหน่ายเทปโดยไม่ได้รับอนุญาต
ระหว่างพิจารณา บริษัทซีเนเพล็กซ์ โอเดียนฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (1) มาตรา 44 วรรคสอง ปรับ 10,000 บาท ให้จ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 วิดีโอเทปของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4, 6, 34 ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 และให้ยกฟ้องข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 เป็นอันยุติแล้ว คงมีปัญหาชั้นฎีกาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและแตกต่างกับ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์อันเป็นเวลาภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณ แก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ตามปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง”เดอะ กริฟเตอร์ส” ตามม้วนวิดีโอเทปหมาย จ. 2 อันได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์โดยดำเนินการจัดสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการโฆษณาครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่มิได้เป็น ผู้จัดจำหน่ายเองโดยขายสิทธิให้แก่ต่างประเทศตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก บริษัทแครอลโค อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็น.วี. จำกัด ได้รับซื้อสิทธิดังกล่าวและได้มอบสิทธิภาพยนตร์ วิดีโอให้แก่บริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด เพื่อนำไป จัดจำหน่ายในรูปแบบจัดฉายภาพยนตร์แปลงระบบเป็นแถบบันทึกภาพ และโจทก์ร่วมได้มอบสิทธิให้บริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยจำเลยมิได้รับสิทธิในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ดังกล่าว และลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ร่วมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ร่วม โดยตามวันเวลาและสถานที่ตามฟ้อง จำเลยได้นำวิดีโอเทปจำนวน 2 ม้วน ตามม้วน วิดีโอเทปหมาย จ. 2 ออกขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำการดังกล่าวโดยรู้ว่างานหรือวิดีโอเทปของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความตามพฤติการณ์ว่า จำเลยกระทำการดังกล่าวในลักษณะเพื่อการค้า เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่า ผู้ที่นำวิดีโอเทปมามอบให้จำหน่ายหรือให้เช่าเป็น ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้นหรือไม่ และจำเลยได้กระทำการค้าวิดีโอเทปโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับชั้นจับกุมจำเลยก็ให้การรับสารภาพผิดตามข้อหานี้ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. 3 ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยรู้ว่างานหรือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในวิดีโอเทปนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นหรือโจทก์ร่วม ข้อต่อสู้ของจำเลยที่กล่าวอ้างลอย ๆว่า ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดด้วยการขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า วิดีโอเทป 2 ม้วน โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยกฟ้องในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ความผิดในข้อหานี้กับในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 ซึ่งเป็นอันยุติไปแล้วนั้น เห็นได้ว่า ตามฟ้องเป็นการกล่าวหาในวันเวลา เดียวกัน และการกระทำของจำเลยก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน กล่าวคือ การขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า อย่างเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดซึ่งต้องพิจารณาจากอัตราโทษจำคุก ปรากฏว่า พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีโทษหนักกว่าพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ด้วย ลงโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 ซึ่งเป็นบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 วิดีโอเทปของกลางให้ ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.