คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่19มิถุนายน2532ระบุว่ากรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์คือบ.และช.แต่หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครซึ่งออกให้เมื่อวันที่9กุมภาพันธ์2536ไม่ปรากฏชื่อของบ. และช. ว่าเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ส่วนหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครที่ออกให้เมื่อวันที่19สิงหาคม2535แม้มีชื่อช. และบ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์แต่ก็ระบุไว้ว่าเป็นกรรมการผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ระหว่างวันที่30กรกฎาคม2533ถึงวันที่4กรกฎาคม2534เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าช. และบ. มอบอำนาจให้ส. และท.มีอำนาจกระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะจำเลยที่1และที่2ทำสัญญากับโจทก์ส. และท. จึงมิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะที่โจทก์และจำเลยที่1และที่2ทำสัญญากันการที่ช. และบ. กระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ส. และท. เป็นผู้มีอำนาจลงนามเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายเป็นผลให้ส. และท.ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายต่อศักดิ์ ไทยวงษ์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน9ฉ-9577 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ในราคา 1,092,000 บาทแบ่งชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ 22,750 บาทรวม 48 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงงวดเดียวเป็นเงิน 22,750 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ ต่อมาวันที่2 ธันวาคม 2534 โจทก์จึงติดตามยึดรถกลับคืนมาได้ซึ่งอยู่ในสภาพเสียหายมากโจทก์นำออกขายได้ราคา514,018 บาท เมื่อหักจากราคารถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วยังขาดอยู่ 555.232 บาทซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่นี้แก่โจทก์นอกจากนี้ยังต้องร่วมกันรับผิดในค่าขาดประโยชน์ที่ครอบครองใช้รถยนต์โจทก์อยู่นับแต่วันผิดนัด จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์กลับคืนในอัตราเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา7 เดือน 12 วัน เป็นเงิน 222,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน777,232 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน777,232 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายทศพร สิงหโกวินท์และนายสวัสดิ์ กีรติวรนันท์ ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อสัญญานี้จึงเป็นโมฆะ และจำเลยทั้งสองมิได้ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดที่ละเลยไม่มาเก็บเงินค่าเช่าซื้อเอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ยื่นคำแถลงประกอบฎีกาขอให้รับเอกสารหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครไว้ประกอบการพิจารณาของศาลฎีกานั้นเห็นว่า การยื่นพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์ต่อศาลฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาเป็นการยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการรับฟังพยานเอกสารศาลฎีกาจึงไม่รับไว้ประกอบการพิจารณา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นายต่อศักดิ์ ไทยวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534 ขณะทำสัญญากรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์คือนายชินเวศ สารสาสและนายไบรอัน เจมส์ ฮิวแมน ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 โจทก์มอบอำนาจให้ นายสวัสดิ์ กีรติวรนันท์และนายทศพร สิงหโกวินท์ เป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ ปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.4 ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2532 ระบุว่า กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์คือนายไบรอัน และนายชินเวศแต่หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งออกให้เมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2536 ไม่ปรากฏชื่อของนายไบรอัน และนายชินเวศว่าเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.3 ที่ออกให้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2535 แม้มีชื่อนายชินเวศและนายไบรอันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ แต่ก็ระบุไว้ว่าเป็นกรรมการผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 ถึงวันที่4 กรกฎาคม 2534 เท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่านายชินเวศ และนายไบรอันมอบอำนาจให้นายสวัสดิ์และนายทศพรมีอำนาจกระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ตามเอกสารหมายจ.5 และ จ.6 ตามลำดับ จึงต้องฟังว่านายสวัสดิ์และนายทศพรมิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากัน ดังนั้น การที่นายชินเวศ และนายไบรอันกระทำการลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.4 ที่มอบอำนาจให้นายสวัสดิ์ และนายทศพรเป็นผู้มีอำนาจลงนามเป็นคู่สัญญาแทนโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายเป็นผลให้นายสวัสดิ์และนายทศพรผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5แทนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจนำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
พิพากษายืน

Share