คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทได้มาโดยการซื้อจากเงินเรี่ยไรของชาวบ้านซึ่งมีเจตนาและความประสงค์ขุดสระน้ำในที่พิพาท เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน ดังนี้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ขุดสระน้ำเสร็จตามความประสงค์หรือเจตนาของชาวบ้านในการซื้อที่ดินพิพาท จึงไม่ต้องมีการอุทิศโดยตรงอีก เพราะพฤติการณ์ที่ต่อมาชาวบ้านได้ใช้น้ำจากสระร่วมกันตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านถือว่าเป็นการอุทิศโดยปริยายแล้ว ฉะนั้นที่ดินพิพาทจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกาการที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์และว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามเดิมจึงไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 50 ปีมานี้ชาวบ้านได้ร่วมกันซื้อที่นาของนายเหรียญ ศรีโฉม เนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ ให้โจทก์แล้วโจทก์ได้ครอบครองโดยขุดสระน้ำ จัดสร้างสิมน้ำ และเนื่องจากโจทก์ไม่มีพระอุโบสถ หรือสิมบกให้พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมจึงได้ล้อมรั้งเสาไม้แก่นและลวดทำเป็นกำแพงเขตเดียวกัน จำเลยได้บุกรุกเข้าไปลอกสระน้ำ แล้วสร้างตลาดสด สถานีจอดรถโดยสารเพิง แผงให้ผู้อื่นเช่าจัดเก็บผลประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เมื่อปี พ.ศ. 2522 โจทก์ได้ตรวจสอบหลักฐานจากที่ดินจังหวัดชัยภูมิ พบว่าจำเลยได้นำที่ดินดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณประโยชน์เมื่อปี พ.ศ. 2514 โจทก์และชาวบ้านได้ร้องเรียนให้เพิกถอนทะเบียนที่ดินดังกล่าวออกจากการเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิจึงมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนสาธารณประโยชน์โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมที่ดิน แต่จำเลยยังคงบุกรุก และจัดเก็บผลประโยชน์ตลอดมา ขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินธรณีสงฆ์ตามฟ้อง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง หากจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อโดยค่าใช้จ่ายเป็นของจำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ แต่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ของเอกชนในหมู่บ้านแก้งคร้อ และบ้านหนองไผ่ ได้ร่วมกันซื้อและยกให้เป็นที่สาธารณะทำเป็นหนองน้ำรวมกับหนองไผ่เดิมเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ และประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวตลอดมา โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองขุดสระน้ำ ล้อมรั้วและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ปี พ.ศ. 2514 จำเลยขออนุมัติต่อจังหวัดชัยภูมิขอใช้ที่ดินหนองไผ่ที่พิพาททางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ สร้างเป็นตลาดสด จังหวัดชัยภูมิได้มีหนังสืออนุญาตให้จำเลยใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวได้ จำเลยจึงสร้างอาคารตลาดสด แผงลอย ลงในที่ดินพิพาทโดยทางจังหวัดชัยภูมิสนับสนุนจำเลยให้จัดเก็บผลประโยชน์นำมาบำรุงท้องที่ตลอดมา โจทก์ก็ไม่เคยทักท้วง ขัดขวางหรือโต้แย้งสิทธิใด ๆ ตามข้อเท็จจริงแล้วที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนได้ใช้ร่วมกันมา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จะบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.7 ว่าเป็นหลักฐานที่ชาวบ้านยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ได้ตรวจเอกสารหมาย จ.7 และภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.8ซึ่งเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจได้ถ่ายจากเอกสารดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความเลอะเลือนจนไม่สามารถอ่านข้อความได้ และเอกสารหมาย จ.8 ก็เป็นเช่นเดียวกับเอกสารหมายจ.7 จึงไม่สามารถรับฟังข้อความในเอกสารหมาย จ.7 ให้เป็นคุณแก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ได้มีพยานซึ่งมีอายุ 60 ปี ถึง 77 ปีเข้าเบิกความ แต่ก็เบิกความลอย ๆ ว่า ยกให้แก่วัด บางปากว่าขุดสระน้ำ 1 ปี แล้วยกให้วัด บางปากว่า 10 ปี แล้วยกให้วัดแต่นางทองม้วน ศรีโฉม ภรรยานายกองเหรียญ ศรีโฉม เจ้าของที่ดินเบิกความว่า ชาวบ้านซื้อที่ดินพิพาทเพื่อนำมาขุดใช้เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั้งสองหมู่บ้าน ไม่มีการพูดว่าซื้อถวายวัด ขณะที่มีการซื้อที่ดินพิพาท ชาวบ้านมีน้ำไม่พอใช้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าชาวบ้านเรี่ยไรเงินซื้อที่ดินพิพาทเพื่อขุดสระน้ำเอาน้ำใช้สำหรับประชาชนในหมู่บ้านมากกว่าจะซื้อที่ดินพิพาทถวายวัดคดีจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ชาวบ้านได้นำเงินที่เรี่ยไรได้มาซื้อที่ดินพิพาท และขุดสระน้ำเอาน้ำมาใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในหมู่บ้าน การที่มีการสร้างสิมน้ำลงในสระที่พิพาท และชาวบ้านยอมให้สร้างนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์ได้อาศัยที่ดินพิพาทโดยชาวบ้านยินยอมเพราะได้ความว่าขณะนั้นโจทก์ยังไม่มีอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรมไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าชาวบ้านเรี่ยไรเงินมาซื้อที่ดินพิพาทถวายวัด นอกจากนี้ปรากฏหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 ว่า ทิศเหนือจดที่สุขาภิบาลแก้งคร้อและหนองไผ่สาธารณประโยชน์ และเนื้อที่ของโจทก์มีจำนวนเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ 16 วา ซึ่งใกล้เคียงกับเนื้อที่ในทะเบียนรายชื่อวัดตามเอกสารหมาย ล.1 จึงต้องรับฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ เพราะถ้าหากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จริง โจทก์ก็ต้องจดทะเบียนออกเอกสารแสดงสิทธิว่าวัดโจทก์เป็นเจ้าของ ส่วนการล้อมรั้วไม้แก่นตามที่โจทก์นำสืบนั้นก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะคดีได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ขุดเป็นสระน้ำ และราษฎรหรือประชาชนได้ใช้น้ำในสระตลอดมาตั้งแต่ขุดสระน้ำเสร็จ นอกจากนี้ยังมีป้ายของทางราชการระบุว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503โจทก์เพิ่งจะคัดค้านเมื่อปี พ.ศ. 2523 เพราะเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้รับคำบอกเล่าจากชาวบ้านเท่านั้น ที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายต่าง ๆนั้น เห็นว่า เมื่อรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทได้มาโดยการซื้อจากเงินเรี่ยไรของชาวบ้านซึ่งมีเจตนาและความประสงค์ขุดสระน้ำในที่พิพาท เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน ดังนี้จึงต้องถือว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ขุดสระน้ำเสร็จตามความประสงค์หรือเจตนาของชาวบ้านในการซื้อที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องมีการอุทิศโดยตรงอีกเพราะพฤติการณ์ต่อมาที่ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากสระร่วมกันตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านนั้นถือว่าเป็นการอุทิศโดยปริยายแล้ว เพราะฉะนั้นที่ดินพิพาทจะมีการโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ และว่าที่พิพาทกลับเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามเดิมนั้นจึงไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share