คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9650/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วย และยังต้องปฏิบัติหน้าที่การงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นลูกจ้างโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับสินค้ามีหน้าที่ไปตรวจรับสินค้าว่ามีการซื้อขายตามจำนวนประเภท และราคาสินค้านั้นถูกต้องตรงตามสัญญาซื้อขายกันหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจรับที่โจทก์ตั้งขึ้นตรวจรับสินค้าตามหลักฐานเอกสารที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไปถูกต้องแล้วพิจารณาจ่ายเงินให้ผู้ขายสินค้าไป และวิธีปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นก็ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2528 ของโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการตรวจรับไม่เคยไปตรวจรับสินค้า คงตรวจแต่เอกสารการรับมอบ แม้จะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังปฏิบัติตาม จึงเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่รักษาประโยชน์ของโจทก์ เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เมื่อมีการสอบสวนทางวินัยก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดทางวินัยคำสั่งของโจทก์ให้พักงานจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2และที่ 3 การที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วยการพักงานและลดขั้นเงินเดือนจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์แล้ว
จำเลยที่ 3 ทำผิดวินัยโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 ต้องเกษียณอายุหรือถูกเลิกจ้างโดยมีความผิด โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ 3
ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องบังคับใช้ตามอายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการผิดสัญญาในระหว่างปี 2532 ถึง 2533 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2536 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ประนี-ประนอมยอมความหนี้กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาว่าไม่มีการประนีประนอมยอมความในหนี้แต่อย่างใด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อในคำให้การจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่อุทธรณ์ขึ้นมา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share