แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 จึงไม่สมบูรณ์นั้นจำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้ยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วยแต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคสอง และหากศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ชอบที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ได้ ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กยึดและพับได้ ได้มีการออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ใบม่านชนิดพับซ้อนแบบยึดและพักได้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ประเภทเดียวกันกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ มีข้อถือสิทธิตามคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์แตกต่างกับข้อถือสิทธิของประเทศอังกฤษคือ ตามคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ขอบด้านหนึ่งของใบม่านหักเป็นมุม และอีกด้านหนึ่งไม่หักเป็นมุม ส่วนตามสิทธิบัตรของประเทศอังกฤษขอบใบม่านทั้งสองด้านหักเป็นมุม ดังนี้ ข้อแตกต่างตามข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย การใช้งานมีลักษณะทำนองเดียวกันไม่ปรากฎว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ใช้งานหรือมีประสิทธิภาพดีกว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของประเทศอังกฤษที่ได้ออกไว้ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์จึงมิใช่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น อันจะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้สิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์จึงเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5(2)ซึ่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นเป็นสิทธิบัตรนั้นเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและไม่ถูกโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใดโจทก์จึงหามีอำนาจฟ้องขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 อธิบดีกรมทะเบียนการค้ารับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 1 หรือให้ยกคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กยึดและพับได้ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่มีข้อถือสิทธิว่า “ม่านเหล็กบังตาติดกับประตูเหล็กและพับได้โดยออกแบบม้วนขอบใบม่านเหล็กบังตาตามความยาวด้านข้างทั้งสองข้างเป็นรูปก้นหอย มีทิศทางการม้วนที่ต่างกัน และขอบด้านหนึ่งหักเป็นมุม แผ่นใบม่านนี้จะสอดสวมเข้าด้วยกันในลักษณะยึดออกและพับได้” ตามคำขอเลขที่ 000468 อธิบดีกรมทะเบียนการค้าโมษณาคำขอของโจทก์และออกสิทธิบัตรให้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2528 ตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 จำเลยที่ 1 ซึ่งรู้เห็นการประดิษฐ์ของโจทก์ได้ลอกเลียนการประดิษฐ์ของโจทก์โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาอย่างเดียวกันของโจทก์โดยทุจริตรวม 2 รายการ คือคำขอเลขที่001069 และ 001071 โจทก์จึงยื่นคำคัดค้านว่าคำขอของจำเลยที่ 1ไม่ใช่ของใหม่และลอกเลียนแบบของโจทก์ แต่อธิบดีกรมทะเบียนการค้ายกคำคันค้าน อ้างว่าคำขอของจำเลยที่ 1 เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริตและไม่ถูกต้อง โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านข้อวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร คณะกรรมการสิทธิบัตรมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ปรากฎตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2530 และที่ 2/2530คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายขั้นตอนการผลิตของจำเลยที่ 1 ใช้วิธีเดียวกับของโจทก์ทุกประการ จึงมิใช่ขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น และมิใช่การคิดค้นขึ้นเอง แต่เป็นการลอกเลียนแบบตามคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ ขอให้ยกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2530 และ 2/2530 และยกคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 001069 และ 001071 ห้ามจำเลยที่ 2ในฐานะอธิบดีกรมทะเบียนการค้ารบจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอดังกล่าวของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสองคำขอโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย มิได้ลอกเลียนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ ไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทะเบียนการค้าและคณะกรรมการสิทธิบัตรถูกต้องและใช้ดุลพินิจโดยสุจริต คำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 เป็นคนละประเภทกับของโจทก์เพราะเป็นการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522ส่วนสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ตามมาตรา 5 และ 6 สิทธิบัตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีลักษณะต่างกันตลอดจนรูปแบบและลวดลายจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทะเบียนการค้าที่ 9/2527 และที่ 10/2527 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2530 และที่ 2/2530 ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตร ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานคณะกรรมการ ตามคำวินิจฉัยที่ 1/2530 และ2/2530 ห้ามจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมทะเบียนการค้ารับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 001069 และ 001071
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า แบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 001069 และ001071 ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์หรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ยังปรากฎว่าจำเลยทั้งสามได้ยกเป็นประเด็นปัญหาในชั้นฎีกาอีกว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 261 ของโจทก์ได้ทำโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522จึงไม่สมบูรณ์และไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยทั้งสามมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ส่วนในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสามได้ยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วยแต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ อย่างไรก็ดี เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 249 วรรคสองและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้
ตามปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม” และมาตรา 7 บัญญัติว่า”การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กยึดและพับได้ตามคำขอเลขที่ 000468 ได้มีการออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ใบม่านชนิดพับซ้อนและยึดและพับได้ที่ประเทศอังกฤษ ตามสิทธิบัตรเลขที่ 705, 473 ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ประเภทเดียวกันกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ มีข้อถือสิทธิตามคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์แตกต่างกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 705, 473 ของประเทศอังกฤษ คือ ตามคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ขอบด้านหนึ่งของใบม่านหักเป็นมุม และอีกด้านหนึ่งไม่หักเป็นมุม ส่วนตามสิทธิบัตรเลขที่ 705, 473 ของประเทศอังกฤษขอบใบม่านทั้งสองด้านหักเป็นมุมเห็นว่า ข้อแตกต่างตามข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย การใช้งานมีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ปรากฎว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ใช้งานหรือมีประสิทธิภาพดีกว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของประเทศอังกฤษที่ได้ออกไว้ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ ดังนี้ การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์จึงมิใช่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น อันจะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 261 ของโจทก์จึงเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5(2) ซึ่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสิทธิบัตรนั้นเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและไม่ถูกโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใด โจทก์จึงหามีอำนาจฟ้องขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 1 หรือให้ยกคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 001069 และ 001071ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมทะเบียนการค้ากับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2530 และที่ 2/2530 ซึ่งมีจำเลยที่ 3เป็นประธานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์