คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7718/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อ 4 วรรคสอง มีความหมายว่า ในวันที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้ใดนักศึกษาผู้นั้นจะต้องมาเพื่อชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อที่จะสอบถามเท่านั้น หากไม่มีข้อจะสอบถาม นักศึกษาผู้นั้นก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจง จึงมิใช่ข้อบังคับว่า คณะกรรมการจะต้องให้นักศึกษาผู้นั้นชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการเสมอไป ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อ 4 ในวันนัดประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ จำเลยที่ 5 ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์แต่ผู้เดียวก็สามารถจะสั่งให้โจทก์ทำการแก้ไขข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ได้ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยขยายระยะเวลาในการเขียนวิทยานิพนธ์แก่โจทก์อย่างน้อยหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีและให้ถือว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์มีสถานภาพศักดิ์และสิทธิเท่ากับนักศึกษาอื่น ให้จำเลยเปลี่ยนแปลงกรรมการตรวจสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ใหม่ทั้งหมด โดยให้โจทก์มีสิทธิเลือกตัวกรรมการสอบได้ด้วย ให้จำเลยถือว่าโจทก์สอบผ่านเค้าโครงวิทยานิพนธ์แล้วเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ต่อไป และให้โจทก์มีสิทธิเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาให้โจทก์ นอกจากจะเป็นคำขอที่ให้โจทก์ได้รับสิทธิพิเศษผิดไปจากนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโททั่วไปแล้วยังเป็นคำขอที่อยู่นอกเหนือข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2520 ข้อ 6 เรื่องระยะเวลาการศึกษาและข้อ 16 เรื่อง ค่าธรรมเนียม และนอกเหนือระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อ 4 จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนักศึกษาชั้นปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นอธิการบดี จำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ จำเลยที่ 5 เป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้เป็นประธานกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ จำเลยที่ 6 เป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3ให้เป็นกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ จำเลยที่ 7 เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้เป็นกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ จำเลยที่ 8 และที่ 9เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3ให้เป็นกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534 เวลากลางวัน โจทก์ได้ยื่นเสนอเค้าโครงวิทยานิพนธ์เพื่อสอบตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2528 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 จำเลยที่ 4 ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 กันยายน 2534 แจ้งให้โจทก์ไปทำการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2534 เวลา 16 นาฬิกา ณ ห้องประชุม404 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2534 เมื่อถึงกำหนดสอบโจทก์ได้ไปเพื่อทำการสอบตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว แต่จำเลยทั้งเก้าก็ไม่อาจจัดสอบให้แก่โจทก์ได้เพราะจำเลยที่ 5ไม่มาทำหน้าที่ประธานกรรมการสอบ โดยอ้างเหตุว่าภรรยาป่วยไม่อาจมาเป็นกรรมการสอบได้ ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ และจำเลยที่ 6ถึง 9 เป็นกรรมการสอบตามคำสั่งของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งเก้าทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์ต้องสูญเสียเวลาในการศึกษาตามระเบียบ ข้อบังคับและพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 ต่อมาโจทก์ได้พยายามติดตามให้จำเลยทั้งเก้าจัดสอบให้โจทก์เพราะโจทก์มีสถานภาพเป็นนักศึกษาปีสุดท้ายและจำเลยทั้งเก้าก็ได้นัดสอบให้โจทก์ตามกำหนดใหม่ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2534เวลา 16 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 112 คณะนิติศาสตร์ เมื่อถึงกำหนดสอบ จำเลยทั้งเก้าก็มิได้ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522 ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2528 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2530 กล่าวคือจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นกรรมการสอบไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้อธิบายหรือชี้แจงเนื้อหาเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ และจำเลยที่ 5 ยังได้สั่งแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์โดยมีเจตนากลั่นแกล้งหรือไม่สุจริตต่อโจทก์ และยังได้สั่งให้โจทก์ไปหาข้อมูลที่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วไม่อาจหาได้ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 ดังกล่าวหลังจากวันสอบดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นหนังสือถึงจำเลยที่ 2 จำนวนสองฉบับ จำเลยทั้งเก้าไม่อนุมัติให้โจทก์ขยายเวลาในการศึกษา การกระทำของจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งเก้าต้องร่วมกันรับผิดในผลละเมิดที่ทำให้โจทก์สูญเสียระยะเวลาในการเขียนวิทยานิพนธ์ สูญเสียสิทธิในการเป็นนักศึกษาขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าขยายระยะเวลาในการเขียนวิทยานิพนธ์แก่โจทก์อย่างน้อยหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีและให้ถือว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์มีสถานภาพ ศักดิ์และสิทธิเท่ากับนักศึกษาอื่น ๆ ให้จำเลยทั้งเก้าเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ใหม่ทั้งหมดโดยให้โจทก์มีสิทธิเลือกตัวกรรมการสอบได้ด้วย ให้จำเลยทั้งเก้าถือว่าโจทก์สอบผ่านเค้าโครงวิทยานิพนธ์แล้วเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ต่อไปและให้โจทก์มีสิทธิเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่และให้จำเลยทั้งเก้ายกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ในด้านการศึกษาหรือวิชาการโดยเฉพาะ เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ใช้ดุลพินิจไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว ศาลย่อมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปใช้ดุลพินิจดังกล่าวเสียเอง และจากคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้กลั่นแกล้ง ใช้สิทธิไม่สุจริต จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นการส่วนตัวแต่อย่างไร ทั้งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อ 1ถึงข้อ 3 ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ศาลมิอาจบังคับให้ได้จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของโจทก์ในข้อ 1 ที่ว่าการที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์อธิบายหรือชี้แจงเนื้อหาของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ และจำเลยที่ 5 ได้สั่งแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522 ข้อ 4โดยจำเลยที่ 5 ไม่มีอำนาจกระทำได้โดยลำพังคนเดียวจะต้องกระทำเป็นมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยวรรคท้าย ข้อ 4 ของระเบียบดังกล่าวระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์เห็นสมควรให้นักศึกษาปรับปรุง แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์เสนอต่อคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาใหม่” นั้น เห็นว่า ที่ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ พ.ศ. 2522 ข้อ 4 วรรคสอง ระบุว่า “ในการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแนะเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษามาชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ด้วย” นั้นมีความหมายแต่เพียงว่า ในวันที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้ใด นักศึกษาผู้นั้นจะต้องมาเพื่อชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ในกรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯมีข้อที่จะสอบถามเท่านั้น แต่หากไม่มีข้อจะสอบถาม นักศึกษาผู้นั้นก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจง กรณีตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่ข้อบังคับว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะต้องให้นักศึกษาผู้นั้นชี้แจงข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของตนต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสมอไปดังที่โจทก์เข้าใจ ส่วนในกรณีที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 5 ผู้เดียวไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์นั้น เห็นว่า เค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่โจทก์เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นั้น ในทางปฏิบัติก่อนจะถึงกำหนดนัดประชุมพิจารณา คณะกรรมการกลั่นกรองฯจะต้องประชุมพิจารณาข้อคิดเห็นและสรุปข้อเสนอแนะของเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เพื่อแนะนำหรือให้โจทก์ได้รับทราบในวันที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯนัดประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ และเมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีความคิดเห็นและสรุปปัญหาเป็นประการใดแล้ว ในวันนัดประชุมจำเลยที่ 5 แต่ผู้เดียวในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ก็สามารถจะสั่งให้โจทก์ทำการแก้ไขข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ได้การกระทำของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์จึงหาได้ฝ่าฝืนต่อระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อ 4 แต่อย่างใดไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาในข้อ 2 ที่ว่า ในวันนัดพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ครั้งแรก เมื่อวันที่7 ตุลาคม 2534 เป็นการนัดล่าช้าผิดปกติวิสัยแตกต่างจากที่นัดให้แก่นักศึกษาอื่นซึ่งเร็วกว่าของโจทก์ เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 5 ไม่ได้มาตามนัดอ้างว่าภรรยาป่วยซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว และจำเลยที่ 1 ไม่จัดการแต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นประธานกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์แทนถือว่าจำเลยทั้งเก้ามีเจตนาร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์นั้น เห็นว่าการจะนัดคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์จะต้องพิจารณาวันและเวลาที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่ละคนจะมีวันว่างพอที่จะมาร่วมประชุมด้วยและการไม่มาประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 5 เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นที่จำเลยที่ 1 มิได้แต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นประธานกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์แทนจำเลยที่ 5 นั้น กรณีอาจเป็นเรื่องกระทันหันไม่ทราบว่าจำเลยที่ 5 จะมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ได้ และตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะส่อแสดงได้ว่าจำเลยทั้งเก้ามีเจตนาจะกลั่นแกล้งโจทก์ กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลมีอำนาจใช้อำนาจตุลาการที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้นั้น เห็นว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์นอกจากจะเป็นคำขอที่ให้โจทก์ได้รับสิทธิพิเศษผิดไปจากนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโททั่วไปแล้วยังเป็นคำขอที่อยู่นอกเหนือข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท พ.ศ. 2520ข้อ 6 เรื่อง ระยะเวลาการศึกษาและข้อ 16 เรื่องค่าธรรมเนียมและนอกเหนือระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวิทยานิพนธ์พ.ศ. 2522 ข้อ 4 ตามเอกสารท้ายคำแก้ฎีกาหมายเลข 1 และ 2ดังนั้น คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับให้โจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share