คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องในคราวก่อนเพราะผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีที่ผู้ร้องนำมาฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีของผู้ร้องนั้นแล้ว หาใช่ว่าศาลยังมิได้รับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยเนื้อหาในคำร้องขัดทรัพย์ไม่เมื่อศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148(1)เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288ให้ศาลพิจารณาชี้ขาดคดีคำร้องขัดทรัพย์เหมือนคดีธรรมดาคำร้องของ ผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินมือเปล่าตาม ภ.บ.ท.5 เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 90 ตารางวาเพื่อขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร้องที่ซื้อมาจากนางสุคนธ์ มหาทน มิใช่ของจำเลยที่ 2 ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีก่อนศาลยกคำร้องเพราะผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์อีกซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน คู่ความเดียวกันและศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ ให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏจากสำนวนร้องขัดทรัพย์ของศาลชั้นต้นสาขาคดีหมายเลขแดงที่ 115/2537 ว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์รายเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 ถึงวันนัดไต่สวน ทนายผู้ร้องและพยานไม่มาศาล ศาลถือว่าไม่มีพยานมาสืบตามคำร้องและมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2538ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขัดทรัพย์ใหม่เป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องในคราวก่อนเพราะผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบเท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีที่ผู้ร้องนำมาฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีของผู้ร้องนั้นแล้ว หาใช่ว่าศาลยังมิได้รับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยเนื้อหาในคำร้องขัดทรัพย์ดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ เมื่อศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดได้ ฉะนั้น ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148(1) เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ให้ศาลพิจารณาชี้ขาดคดีคำร้องขัดทรัพย์นั้นเหมือนคดีธรรมดาคำร้องของ ผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ยกคำร้องขัดทรัพย์รายใหม่ของผู้ร้องนั้นชอบแล้วฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share