คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136-8139/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 686 บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อบริษัทนายจ้างผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามมาตรา 686 ได้ แม้มาตรา 688 และมาตรา 689 จะให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ให้โจทก์ทั้งสี่ไปเรียกร้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ก่อนที่จะเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกัน ก็มิได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากบริษัทนายจ้างลูกหนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่จะไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลย ประกอบกับหากจำเลยประสงค์จะให้บริษัทนายจ้างลูกหนี้ชั้นต้นรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ชอบที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบริษัทนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยจึงหามีสิทธิยกมาตรา 688 และมาตรา 689 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ได้ไม่
การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย บริษัทนายจ้างได้ตกลงแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นงวด จำนวน 10 งวด งวดละเท่า ๆ กัน แต่บริษัทนายจ้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพียงงวดแรกงวดเดียว จนถึงวันฟ้องก็ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสี่อีก แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องคดีนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้งวดสุดท้าย ก็ถือได้ว่าบริษัทนายจ้างผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ย่อมถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 มีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ได้ ผู้ค้ำประกันจะยกมาตรา 687 ขึ้นต่อสู้เพื่อโต้แย้งว่าตนไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 เป็นลูกจ้างของบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อมาถูกเลิกจ้างโดยบริษัททำบันทึกข้อตกลงยินยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ มีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการจ่ายเงินดังกล่าว หลังจากนั้นบริษัทจ่ายเงินตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ขาดอยู่ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 315,018 บาท 163,903.43 บาท 351,730.52 บาท และจำนวน 75,241.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในยอดเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทแมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ผู้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสี่ผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้วจึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่บัญญัติว่า “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น” เช่นนี้ เมื่อบริษัทดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามมาตรา 686 ดังกล่าวได้ ที่จำเลยอ้างบทบัญญัติมาตรา 688 และมาตรา 689 แห่ง ป.พ.พ. มาเพื่อปฏิเสธความรับผิดโดยขอให้โจทก์ทั้งสี่ไปฟ้องร้องบังคับให้บริษัทผู้เป็นนายจ้างชำระหนี้ก่อนจำเลยผู้ค้ำประกันนั้น แม้บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวจะให้สิทธิแก่จำเลยผู้ค้ำประกันยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ให้โจทก์ทั้งสี่ไปเรียกร้องให้บริษัทนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ก่อนที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้ค้ำประกันได้ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากบริษัทนายจ้างลูกหนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่จะไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลย ประกอบกับหากจำเลยประสงค์จะให้บริษัทนายจ้างลูกหนี้ชั้นต้นรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ชอบที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกลูกหนี้ชั้นต้นเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยจึงหามีสิทธิยกมาตรา 688 และ มาตรา 689 ดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ได้ไม่
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ได้ตกลงแบ่งจ่ายเป็นงวด จำนวน 10 งวด งวดละเท่า ๆ กัน คือ งวดที่ 1 วันที่ 10 กรกฎาคม 2541 งวดสุดท้ายวันที่ 10 เมษายน 2542 แต่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ดังนั้น การชำระเงินในงวดที่ 8 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงงวดสุดท้าย วันที่ 10 เมษายน 2542 และงวดที่ 11 วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 เกี่ยวกับลดเงินเดือนอัตราร้อยละ 15 เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นนายจ้างจะต้องชำระให้โจทก์ทั้งสี่ ถือว่าบริษัทดังกล่าวยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ข้อโต้แย้งตามกฎหมายยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 จำเลยไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 687 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทดังกล่าวชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพียงงวดเดียวคืองวดที่ 1 วันที่ 10 กรกฎาคม 2541 ส่วนงวดต่อมาคืองวดวันที่ 10 สิงหาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง บริษัทไม่ได้ชำระให้โจทก์ทั้งสี่ ถือได้ว่าบริษัทผู้เป็นนายจ้างผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้รายนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ย่อมถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ได้ จำเลยหามีสิทธิยกมาตรา 687 แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ได้ไม่
พิพากษายืน.

Share