แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งในหกส่วน จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อกัน เป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 275,000 บาท โจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้รับจำนวน 91,666.67 บาท ดังนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งสามจะฟ้องคดีรวมกันมา ก็ต้องคิดจำนวนทุนทรัพย์แยกจากกันตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อฎีกาโจทก์ทั้งสามล้วนแต่เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง กรณีจึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้พิพากษาว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเป็นการซื้อขายไม่ชอบ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสามคนละ ๑ ใน ๖ ส่วน ให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีทั้งหมด หากจำเลยที่ ๑ ไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งสามก็ให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ โดยให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าภาษีที่โจทก์ทั้งสามเสียไปคืนแก่โจทก์ด้วย หากพ้นวิสัยที่จะให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามได้ ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระราคาที่ดินตามส่วนของโจทก์ทั้งสามเป็นเงิน ๒๖๕,๐๐๐ บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสามคืนให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งในหกส่วน โดยให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีทั้งหมด หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๔,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย ให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๖,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ ๑ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามแบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน ตอนแรกกล่าวถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม ตลอดจนมูลเหตุหรือการกระทำต่าง ๆ ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม รวมทั้งปิดบังไม่ได้แจ้งการประกาศขายทอดตลาดแก่โจทก์ทั้งสามและฝ่าฝืนคำสั่งศาลชั้นต้น ขายที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลยที่ ๑ ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่ดำเนินการขายแต่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๒ ส่วนฟ้องตอนที่ ๒ กล่าวถึงการสมคบกันของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดบังไม่ให้โจทก์ทั้งสามทราบถึงวันประกาศขายทอดตลาดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนใช้เป็นคุณประโยชน์อื่นใดมิได้ไปในราคาถูก จำเลยที่ ๑ ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสามประกอบกับฎีกาโจทก์ทั้งสามไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ฉะนั้นคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงมิใช่คดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง และจะพิจารณาถึงว่าสิทธิของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตหรือไม่ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ไม่ได้ เพราะรูปเรื่องมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ ๒ หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ดังนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๐ ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างตามฟ้องโจทก์ทั้งสามและคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งในหกส่วน ก็คงเฉพาะแต่การกล่าวอ้างถึงการละเมิดทั่ว ๆ ไป ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ ๑ กระทำการโดยสุจริตมิได้ละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทั้งที่ดินพิพาทก็เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ไม่จำต้องโอนให้แก่โจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อกัน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์เพียงประการเดียวตามสิทธิและส่วนของโจทก์ที่แต่ละคนพึงได้รับในที่ดินพิพาทที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๕๐ วรรคหนึ่ง และเมื่อราคาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสามมีจำนวน ๒๖๕,๐๐๐ บาท (ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ ๔) ค่าเสียหายอีก ๑๐,๐๐๐ บาท ตามคำขอท้ายฎีกาโจทก์ทั้งสาม รวมเป็นทุนทรัพย์ ๒๗๕,๐๐๐ บาท โดยโจทก์แต่ละคนมีสิทธิจะได้รับจำนวน ๙๑,๖๖๖.๖๗ บาท ตามที่อาจคิดแบ่งแยกได้ อันไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งแม้ว่าโจทก์ทั้งสามจะได้ฟ้องคดีรวมกันมา ก็ต้องคิดจำนวนทุนทรัพย์แยกจากกันตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับ อีกทั้งตามฎีกาโจทก์ทั้งสามตั้งแต่ข้อ ๒ เป็นต้นไป ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อ้างถึงการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง กรณีเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสามมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสาม คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์ทั้งสามทั้งหมด ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.