คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม(ฉบับที่2)พ.ศ.2524ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ19ต่อปีแม้จะออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา3(4)และมาตรา4แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ.2523ก็ตามก็มิใช่เป็นข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้ได้เองคงถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบเมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศดังกล่าวโจทก์จะอ้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ16และ19ต่อปีโดยอาศัยประกาศดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2526จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 380,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ16 ต่อปี จะชำระดอกเบี้ยพร้อมผ่อนชำระเงินต้นเดือนละ 5,580 บาททุกวันสิ้นเดือนนับแต่วันสิ้นเดือนที่รับเงินกู้ไป และจะชำระให้เสร็จใน 15 ปี หากผิดนัดให้ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันที ถ้าค้างชำระดอกเบี้ยเกิน 1 ปี ยอมให้นำดอกเบี้ยทบกับเงินต้นและคิดดอกเบี้ยได้ตลอดไป จำเลยที่ 1 ยอมให้ปรับดอกเบี้ยได้สูงกว่าในสัญญาแต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด โดยมิต้องบอกกล่าวก่อน ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาจำนองเป็นประกันยอมให้โจทก์เอาประกันภัย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยถ้าไม่ชำระยอมให้นำเบี้ยประกันภัยมารวมกับยอดเงินกู้ได้ จำเลยที่ 1ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 125533 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์โดยตกลงว่าถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาแก่ทรัพย์อื่นได้จนครบ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งยอมให้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้โดยมิต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 2 ก่อนจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้โจทก์ โดยชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2527 จำนวน 11,160 บาทแล้วไม่ชำระอีกเลย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ใช้หนี้ไปเป็นเงิน 106,809.08 บาทจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยครบ 1 ปี โจทก์จึงนำเข้าทบกับเงินต้นจำนวน 4 ครั้ง เป็นเงินรวม 222,200.65 บาท นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเบี้ยประกันภัยที่โจทก์จ่ายแทนไป โจทก์จึงนำเบี้ยประกันภัยทบเข้ากับเงินต้น 5 ครั้งเป็นเงิน 2,362.57 บาทโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ทำให้โจทก์เสียหาย ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2532โจทก์ปรับดอกเบี้ยจากร้อยละ 16 ต่อปี เป็นร้อยละ 19 ต่อปีจำเลยทั้งสองจึงต้องชำระเงินต้นจำนวน 595,098.78 บาท กับดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง 167,037.85 บาท นอกจากนั้นจำเลยต้องเสียเบี้ยประกันภัยปีละ 551 บาท ต่อไปอีก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 762,136.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินต้น 595,098.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ปีละ 551 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จด้วย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จริง แต่จำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้องมานั้นไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้หมดสิ้นแล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้น306,134.72 บาท ดอกเบี้ย 2,327.46 บาท ให้โจทก์ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน306,134.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ดังกล่าวหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้น 370,535.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไป เมื่อครบปีให้นำดอกเบี้ยที่ค้างพร้อมเบี้ยประกันภัยมาทบต้นเงินใหม่และคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวในต้นเงินใหม่เช่นนี้ทุกปีจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 และให้ถือว่ายอดเงินในวันนี้เป็นต้นเงินที่จะคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ระบุไว้ว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 16 ต่อปีและในกรณีจำเป็นที่ผู้ให้กู้จะต้องเพิ่มจำนวนดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มจำนวนอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ได้ตามที่เห็นสมควรไม่เกินอัตราสุงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ศาลล่างทั้งสองคิดดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คดีมีประเด็นตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16 และ 19 ต่อปีได้หรือไม่ โจทก์อ้างว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 และ 19 ต่อปีได้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดแจ้งโดยนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และโจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบไว้แล้วว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินกว่าที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ข้อ 3 ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมาย โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบ เห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแม้จะออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3(4) และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524ก็ตาม ก็มิใช่เป็นข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้ได้เองคงถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศดังกล่าว โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 และ 19 ต่อปี โดยอาศัยประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share